xs
xsm
sm
md
lg

ยกฟ้อง “วิลาศ” วิจารณ์ “โครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่เละเทะที่สุด” ชี้เป็นการติชมโดยสุจริต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอดตาม “วัชระ” อดีต ส.ส.ปชป. เฮลั่น! ศาลยกฟ้องซิโน-ไทย ฟ้องหมิ่น วิจารณ์ “โครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่เละเทะที่สุด” ชี้เป็นการติชมโดยสุจริต

วันนี้ (18 ม.ค. 65) นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เมื่อเวลา 09.20 น.ที่ห้อง 602 ศาลอาญากรุงเทพใต้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.300/2563 ระหว่างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โจทก์ ฟ้อง นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ จำเลยที่ 1 นายวรเทพ สุวัฒนพิมพ์ ที่ 2 บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ 3 ในข้อหาหมิ่นประมาทและเรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท กรณีนายวิลาศไปออกรายการคมชัดลึก ที่ช่อง Nation TV22 หัวข้อ “รัฐสภาแห่งใหม่ ใช้ชาตินี้ ไม่ใช่ชาติหน้านะจ๊ะ” เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 62 นั้น โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 และ 3

ขณะที่คำพิพากษาของศาลบางตอน ระบุว่า คณะรัฐมนตรียังมีมติให้เร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 และบางตอนระบุว่าการกล่าวของจำเลยที่ 1
คำว่า “เป็นโครงการที่เละเทะที่สุด” จึงเป็นการกล่าวถึงความไม่มีระเบียบในการตั้งคณะกรรมการหลายคณะ รวมทั้งคณะกรรมการเร่งรัดการก่อสร้างฯของฝ่ายผู้ว่าจ้าง มิได้หมายความว่า โจทก์ทำงานก่อสร้างไม่มีมาตรฐาน ไม่มีคุณภาพ ผลงานออกมาเละเทะ ดังที่พยานโจทก์ทั้งสามคิดและเข้าใจ ดังนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3) พิพากษายกฟ้อง
หลังศาลมีคำพิพากษา นายวิลาศ กล่าวว่า มีประชาชนถามมาว่าจะฟ้องกลับหรือไม่ ตอนนี้กำลังพิจารณาอยู่ แต่คนอย่างตนไม่ยอมให้ใครทำข้างเดียวแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลได้ยกฟ้องคดีที่บริษัท ซิโน-ไทย ฟ้องหมิ่นประมาทเป็นคดีที่ 2 แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 64 ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 233/2564 ยกฟ้องคดี นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ วิจารณ์บริษัทว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ และเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างสัปปายะสภาสถาน (รัฐสภาแห่งใหม่) ให้แก่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร “สัญญาก่อสร้าง 900 วัน ขยายเวลา 4ครั้ง 1,864 วัน รวม 2,764 วัน ยังสร้างไม่เสร็จ บริษัทมีมาตรฐานหรือไม่” ศาลชี้ว่าเป็นประโยคคำถามในลักษณะเป็นการตั้งข้อสังเกตเท่านั้น มิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนว่าโจทก์เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่ไม่มีมาตรฐานจนเป็นเหตุให้ต้องขยายระยะเวลาก่อสร้างถึง 4 ครั้งแต่อย่างใด กรณีจึงยังมิอาจถือได้ว่าเป็นการใส่ความโจทก์ พิพากษายกฟ้อง


กำลังโหลดความคิดเห็น