xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” ซัดกองเชียร์ “ลุงตู่” อวดทุนสำรองสูงเหมือนกวาดขยะใต้พรม ไม่สะท้อนการเงินประเทศแข็งแกร่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อดีต รมว.คลังชี้ ไทยมีทุนสำรองสูงไม่ได้สะท้อนฐานะทางการเงินประเทศแข็งแกร่ง คนเอามาโปรโมตเท่ากับกวาดขยะลงใต้พรม ระบุเงินทุนสำรองเพิ่มเพราะเงินไหลเข้าระยะสั้น และต่างชาติเชื่อมั่นตลาดพันธบัตรสกุลเงินบาทที่พัฒนาไว้ก่อนหน้านี้ แต่การมีทุนสำรองมากทำให้แบงก์ชาติมีต้นทุนค่าใช้จ่าย ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีปัญหาหนี้ท่วม รัฐบาลเอาแต่กู้ ไม่รู้วิธีหารายได้

เมื่อวันที่ 16 ม.ค.นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล แสดงความเห็นกรณีกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลอ้างว่าประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกสะท้อนทางการเงินของประเทศแข็งแกร่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

“ทุนสำรองแสดงเศรษฐกิจแข็งแกร่งจริงหรือ?”
รูป 1 มีผู้โปรโมตว่า ทุนสำรองทางการของไทย ซึ่งปี 2564 เพิ่มเป็น 8.21 ล้านล้านบาทนั้น สะท้อนฐานะทางการเงินประเทศแข็งแกร่ง
แต่ในข้อเท็จจริงนั้น มองเพียงด้านเดียว


ในรูป 2 จากวิกิพีเดีย จะเห็นได้ว่าประเทศที่ทุนสำรองสูง 13 อันดับแรก คือ จีน ญี่ปุ่น สวิส อินเดีย รัสเซีย ใต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ซาอุดิอะเรเบีย สิงค์โปร์ บราซิล เยอรมัน และไทย

ส่วนสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง และเป็นมหาอำนาจทางการทหารอันดับหนึ่ง อยู่ต่ำกว่าไทยเสียด้วย คืออันดับที่ 14


ในรูป 3 ประเทศร่ำรวยและก้าวหน้าทางการค้าและเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ อิตาลี อิสราเอล ก็อยู่ในอันดับต่ำกว่าไทยทั้งสิ้น และธนาคารกลางยุโรปก็มีทุนสำรองแค่อันดับ 32


ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ปริมาณทุนสำรองมิได้สะท้อนพลังอำนาจในทางเศรษฐกิจการค้าการเมืองและการทหารของโลก หรือสะท้อนฐานะทางการเงินประเทศว่าแข็งแกร่งจริงหรือไม่

ต้องดูอีกหลายปัจจัยประกอบกัน ต่อไปนี้

หนึ่ง ประเทศที่ปล่อยให้ค่าเงินของตนเคลื่อนไหวเสรีตามสภาพตลาด ไม่จำเป็นต้องมีทุนสำรองมาก

กรณีของไทย ทุนสำรองที่มีสูงเกิดจากในอดีตมี capital inflows มาก ซึ่งกดดันให้เงินบาทแข็งขึ้น ธนาคารชาติเกรงจะกระทบส่งออก จึงเข้าไปซื้อดอลลาร์เพื่อกดดันค่าเงินบาทเอาไว้ และดอลลาร์ที่ซื้อนี่เอง ที่ตกเป็นทุนสำรองทางการ ดังนั้น ยิ่งค่าเงินบาทมีแนวโน้มจะแข็ง ทุนสำรองก็จะยิ่งเพิ่ม

ถ้าเงินทุนสำรองเพิ่มขึ้นจากไทยค้าขายเก่ง บูมส่งออกสินค้าของตนเอง บูมสินค้ายี่ห้อของไทยเอง ใช้ไฮเทคของไทยเอง แบบนี้สะท้อนฐานะเศรษฐกิจของประเทศแข็งแกร่ง

แต่กรณีไทยนั้น ทุนสำรองส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจาก capital inflows ซึ่งถ้าเป็นเงินระยะยาวที่สร้างฐานการผลิตหรือการพาณิชย์ ก็พอจะสะท้อนฐานะทางการเงินประเทศแข็งแกร่งได้บ้าง แต่ช่วงหลังเป็นเงินประเภท hot money ที่ไหลเข้ามาไทยชั่วคราว เพียงเพื่อกินส่วนต่างดอกเบี้ย

ดังนั้น กรณีนี้ ทุนสำรองสูงจึงไม่ได้สะท้อนความแข็งแกร่งอะไร

สอง ทุนสำรองก่อให้เกิดต้นทุนค่าใช้จ่ายแก่ประเทศไทย

ทุนสำรองที่สูงขึ้น เพราะธนาคารชาติเกรงว่าบาทแข็งจะกระทบส่งออก จึงเข้าไปซื้อดอลลาร์ เพื่อกดดันค่าเงินบาทเอาไว้ แต่เมื่อธนาคารชาติซื้อดอลลาร์เข้าไปเป็นทุนสำรอง ธนาคารชาติต้องออกพันธบัตรเงินบาทจำนวนเงินเท่ากัน เพื่อควบคุมปริมาณเงินมิให้เกินเป้า จึงก่อให้เกิดต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยอัตโนมัติ

สาเหตุหลัก เกิดจากธนาคารชาติต้องเอาดอลลาร์ในทุนสำรองไปลงทุนหารายได้ ซึ่งส่วนใหญ่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ กรณีอายุ 10 ปี ขณะนี้จะได้ดอกเบี้ย 1.77% ต่อปี แต่ต้นทุนที่ธนาคารชาติต้องออกพันธบัตร 10 ปีขณะนี้เท่ากับ 2.07% ต่อปี

ตัวอย่างการมีทุนสำรอง 1 แสนล้านดอลลาร์ (3.3 ล้านล้านบาท) ธนาคารชาติจะได้ดอกเบี้ยต่อปี 5.84 หมื่นล้านบาท แต่ธนาคารชาติจะต้องจ่ายดอกเบี้ยต่อปี 6.83 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น กรณีนี้ ทุนสำรองสูงจึงไม่ได้สะท้อนความแข็งแกร่งอะไร

สาม ทุนสำรองให้ความมั่นใจแก่เจ้าหนี้ต่างชาติ

รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ที่กู้เงินจากต่างชาติ จะต้องกู้เป็นสกุลแข็ง เช่น ดอลลาร์ ยูโร เป็นต้น เพราะนักลงทุนต่างชาติไม่มั่นใจที่จะให้กู้แก่ประเทศเหล่านี้ในสกุลของประเทศลูกหนี้ กรณีนี้ ทุนสำรองที่สูง จึงเป็นการสะท้อนฐานะทางการเงินประเทศแข็งแกร่ง

อธิบายแบบชาวบ้าน ยิ่งมีทุนสำรองมาก เจ้าหนี้ต่างชาติก็จะยิ่งสบายใจ เพราะถ้าหากเมื่อใดรัฐบาลของลูกหนี้จนมุม ก็ยังสามารถเอาทุนสำรองมาชำระหนี้ได้

แต่รัฐบาลไทยโชคดี สามารถกู้เงินโดยออกพันธบัตรเป็นสกุลบาทเพื่อขายในประเทศ ถ้านักลงทุนต่างชาติรายไหนต้องการจะให้กู้แก่รัฐบาลไทย ก็เพียงแต่เอาดอลลาร์เข้ามาในไทย แลกเป็นเงินบาท แล้วจึงเอาเงินบาทไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย

ด้วยวิธีนี้ ผู้ที่ยอมรับความเสี่ยงในค่าเงินบาทที่ผันผวน จึงไม่ใช่รัฐบาลไทย แต่เป็นนักลงทุนต่างชาติ

การที่รัฐบาลไทยสามารถระดมเงินจากต่างชาติได้ในสกุลบาท ก็เพราะในสมัย ม.ร.ว.ปรีดียาธรและผม ทาง ธปท.และ กลต.ได้ร่วมกันพัฒนาตลาดพันธบัตรสกุลเงินบาทเอาไว้ จนเป็นที่น่าเชื่อถือของชาวโลก รัฐบาลต่อๆ มาจึงได้อานิสงส์ไม่ต้องกู้เป็นสกุลดอลลาร์ ผิดกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ

ดังนั้น กรณีนี้ ทุนสำรองสูงจึงไม่ได้สะท้อนความแข็งแกร่งอะไร

มองอีกด้านหนึ่ง ขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาหนี้ท่วม รัฐบาลลุงตู่เอาแต่กู้ แต่ไม่รู้วิธีหารายได้เข้าประเทศ ไม่ได้ใช้เงินกู้ในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของคนไทย เอาแต่กระตุ้นการกินการใช้

แต่ปัญหาใหญ่นี้ เป็นเรื่องของ domestic sector จึงไม่เกี่ยวกับทุนสำรองเลย

ดังนั้น ผู้ที่โปรโมทว่า ทุนสำรองสูงเป็นการสะท้อนฐานะทางการเงินประเทศแข็งแกร่ง นั้น จึงเป็นการกวาดขยะลงใต้พรม และทำให้คนไทยตาบอดไปพร้อมกับทีมเชียร์ลุงตู่


กำลังโหลดความคิดเห็น