นายกฯ เรียก อธิบดีกรมปศุสัตว์ แจงโรคระบาด ASF ในสุกร เน้นย้ำแก้ปัญหาโดยเร็ว ด้านอธิบดีกรมปศุสัตว์แจงนายกฯสั่งสำรวจหมูที่เสียหายโดยเร็ว ให้มท.ช่วยสำรวจ ตั้งเป้าสางปัญหาใช้เวลา 8-12 เดือน ยืนยันไม่ถอดใจจากตำแหน่ง ยันนายกฯ รมว.กษ.ให้กำลังใจทำงานสำเร็จ
วันนี้ (14 ม.ค.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกนายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เข้าพบเป็นการด่วน ที่ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อรายงานสถานการณ์ พร้อมประเมิน การแพร่ระบาดโรค ASFในสุกร ในระยะหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งทำให้ราคาเนื้อหมูปรับสูงขึ้น
ทั้งนี้ นายสัตวแพทย์ สรวิศ ได้กล่าวภายหลังพบนายกรัฐมนตรี ว่า นายกรัฐมนตรีให้ช่วยกันขับเคลื่อนแก้ปัญหาโรคระบาดในสุกร ซึ่งโรคนี้ไม่ได้เกิดในประเทศไทย แต่เกิดใน 34 ประเทศ ในเอเชีย 14 ประเทศ และพบในประเทศรอบบ้านของไทย และเน้นย้ำควบคุมโรคให้ดีและสงบ และให้ผู้เลี้ยงสุกรเดินหน้าได้โดยเร็ว และให้ร่วมมือทำงานกับทุกภาคส่วน รวมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงราคาสุกรที่เข้ามาระบบทั้งหมดจะใช้เวลาดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อไหร่ นายสัตวแพทย์สรวิศ ได้แจ้งนายกรัฐมนตรีไปว่า 8-12 เดือน พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้สำรวจจำนวนสุกรว่ามีจำนวนเท่าไหร่ โดยให้กระทรวงมหาดไทยเข้ามาช่วยเหลือ
ส่วนกรณีนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุไม่ทราบจำนวนหมูหายไปไหนว่า นั้น ยืนยันว่า ในเรื่องนี้หมูไม่ได้หายไปไหนแต่ถือเป็นไปตามระบบ เนื่องจากตามพรบ.โรคระบาดสัตว์ เรามีการส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและมีการเก็บตัวอย่างมาตรวจในห้องปฏิบัติการในศูนย์ทั้ง 8 แห่งทั่วประเทศ
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้มีการสำรวจเสียหาย โดยได้ชี้แจงว่า ตัวเลขในการเคลื่อนย้ายสัตว์ขณะนี้อยู่ที่ 20% ไม่ได้เป็นไปตามข่าวที่อยู่ที่ 60% รวมถึงให้สำรวจความเสียหายผู้เลี้ยงรายย่อย ซึ่งไม่ได้เกิดจากโรคเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูที่ต้นทุนทั้งเรื่องพันธุ์สัตว์และอาหารสัตว์ ซึ่งยอมรับว่า วัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับขึ้นทั่วโลก
ทั้งนี้ สำหรับการเยียวยาจะเน้นไปที่ผู้ประกอบการรายย่อยมาก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาด โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการระดมทุนมาช่วยผู้ประกอบการรายย่อย 100 ล้านบาท หลังจากนั้นจึงมาขอความร่วมมือจากภาคสัตว์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลช่วยเหลือและไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งงบประมาณถึง 1,500 ล้านบาท นำไปดำเนินการลดความเสี่ยงในการเกิดโรค ส่วนการช่วยเหลือเอกชนขนาดกลางและขนาดใหญ่ภาครัฐไม่ได้ช่วยเหลือ
พร้อมกันนี้ ผู้ประกอบการรายย่อย ต้องมีการยกระดับการเลี้ยงหมูให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพตามที่กรมปศุสัตว์ตั้งเกณฑ์ GFM Good Farming Management คือ ป้องกันโรคได้ ไม่ต้องใช้เงินเยอะ เช่น มีการใช้ยาฆ่าเชื้อหรือตรวจสอบย้อนกลับได้ เพื่อนำไปสู่ความปลอดภัยผู้บริโภค โดยกรมปศุสัตว์ได้เสนอเงินไปยังสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยกว่า 1 แสนราย ขณะนี้ศูนย์วิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์จะช่วยเกษตรกรรายย่อยด้วยการผลิตสุกรขายในราคาถูก
พร้อมระบุว่า ไม่ทราบเรื่องที่เกษตรกรถูกข่มขู่หลังจากมาเปิดเผยข้อมูล และคงเป็นไปไม่ได้
อธิบดีกรมปศุสัตว์ ย้ำว่า ไม่ถอดใจในการทำงาน เพราะที่ผ่านมาตนเองได้แก้ปัญหาโรคระบาดในม้า โรคลัมปีกสกีนจนตอนนี้แทบไม่มีแล้ว และล่าสุดโรคระบาดสุกร ซึ่งเกิดมาร้อยปี แต่ยังไม่มีวัคซีน การควบคุมต้องบูรณาการร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรมว.เกษตร เข้าใจและให้กำลังใจในการทำงานให้สำเร็จลุล่วงต่อไป
ด้านนายสัตวแพทย์ กิจจา อุไรรงค์ คณะกรรมการที่ปรึกษาของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ชี้แจง กรณีที่จ.นครปฐมพบโรคระบบASF ในหมูมา 2 ปีแล้วว่า เรื่องนี้เมื่อประกาศเป็นโรคระบาดอย่างเป็นทางการ มาตรการที่เราต้องดำเนินการจากนั้นเป็นการฟื้นฟูอุตสาหกรมเลี้ยงสุกรให้เกิดความเข้มแข็งขึ้นเหมือนเดิม และต้องรอประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ปัจจุบันแนวทางที่แก้ปัญหา คือ จะต้องควบคุมการระบาดและฟื้นฟูอุตสาหกรรมสุกรให้กลับมาได้โดยเร็ว โดยใช้ข้อมูลทางวิชาการเป็นหลัก แต่ไม่ให้เดือดร้อนผู้เลี้ยงและผู้บริโภค ส่วนเรื่องที่เกิดก่อนหน้านี้จะต้องไม่พูดถึงแล้ว
ส่วนราคาหมูที่ปรับสูงขึ้นมาจากหลายปัจจัย แต่เชื่อว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดการเรื่องนี้อย่างเต็มที่ พร้อมย้ำว่า โรคระบาดในสุกรไม่ได้ก่อโรคในคนหรือสัตว์อื่น เนื้อหมูยังบริโภคได้ปกติ หากมีการปรุงสุกไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย ดังนั้นอย่าตระหนกหรือตกใจ