xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เห็นชอบร่างมาตรการสนับสนุนสตรี ขรก.หญิงลาคลอดเพิ่มได้-ขรก.ชายลาช่วยลูกได้ 15 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ครม.เห็นชอบหลักการร่างมาตรการสนับสนุนสตรีเป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ ขยายเวลาเปิดศูนย์เด็กเล็ก ข้าราชการชายลาช่วยดูลูกได้ 15 วัน ไม่ต้องติดต่อกัน ข้าราชการหญิงลาคลอดเพิ่มได้

วันนี้ (11 ม.ค.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ว่า ครม.เห็นชอบหลักการร่างมาตรการสนับสนุนสตรีให้เป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อเป็นมาตรการคุ้มครอง สนับสนุน และอำนวยความสะดวกให้ผู้หญิงสามารถเข้ามามีบทบาททางด้านเศรษฐกิจ ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชายในการเลี้ยงดูบุตร และสร้างกลไกการพัฒนาเด็กเพื่อลดภาระให้กับผู้หญิงที่ทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) ที่ไทยเข้าร่วมเป็นรัฐภาคี ซึ่งมาตรการนี้ครอบคลุม 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ 1) กลุ่มแรงงานหญิงทั้งในระบบและนอกระบบ จำนวน 17,366,400 คน 2) กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว จำนวน 1,061,082 คน และ 3) กลุ่มผู้หญิงสูงอายุที่เป็นผู้เลี้ยงดูเด็ก จำนวน 379,347 คน

สำหรับมาตรการสนับสนุนให้สตรีเป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 3 มาตรการย่อย ดังนี้

1. จัดบริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี โดยขยายบริการของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กให้รับอายุ 0-3 ปี และขยายเวลาเปิด-ปิด ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือสถานรับเลี้ยงเด็กให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนทำงานตามบริบทของพื้นที่

2. ส่งเสริมการลาของสามี (ข้าราชการชาย) เพื่อช่วยภรรยาดูแลบุตรหลังคลอด โดยให้ข้าราชการชายมีสิทธิลาได้ 15 วันทำการ เป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันจนครบวันลา (จากเดิมที่ให้ลาครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ ไม่เกิน 15 วันทำการ)

3. ขยายวันลาคลอดของแม่ (ข้าราชการหญิง) โดยได้รับค่าจ้าง ซึ่งระเบียบเดิมข้าราชการหญิงสามารถลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 90 วัน และข้าราชการหญิงที่ลาคลอดบุตรแล้ว หากประสงค์ลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตร ให้มีสิทธิลาต่อเนื่องจากการลาคลอดบุตรได้ไม่เกิน 150 วันทำการ โดยไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งมาตรการใหม่นี้ ข้าราชการหญิงสามารถลาคลอดบุตรได้ 98 วัน (เพิ่มขึ้นจากเดิม 8 วัน) โดยได้รับค่าจ้าง และเมื่อครบ 98 วันแล้ว สามารถลาเพิ่มได้อีกไม่เกิน 90 วัน โดยได้รับเงินเดือนร้อยละ 50 ของเงินเดือน รวมวันลาคลอดทั้งสิ้น 188 วัน หรือประมาณ 6 เดือน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่องค์การอนามัยโลกและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติระบุว่า ควรให้บุตรได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด

ประโยชน์ที่ได้รับจากมาตรการนี้ คือ 1) ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงด้านการจ้างงาน ทำให้เกิดนโยบายที่มีลักษณะเป็นมิตรกับผู้หญิง สร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ 2) ส่งเสริมให้สามีมีส่วนร่วมในการดูแลบุตร 3) ปรับเปลี่ยนจำนวนวันลาคลอดของข้าราชการให้เท่ากับภาคเอกชน 4) สนับสนุนนโยบายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลกที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการเบื้องต้นของมาตรการและให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาหาข้อสรุปที่ชัดเจน ก่อนเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและหน่วยงานกลางบริหารทรัพยากรบุคลลในส่วนราชการต่างๆ ดำเนินการปรับแก้ระเบียบต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น