xs
xsm
sm
md
lg

โอมิครอน ! โจทย์ท้าทาย สธ.ไทย บทพิสูจน์ความแกร่งอันดับ 5 ของโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เวฟ 5 แห่งการระบาดมาแล้ว ประเทศไทย ต้องเผชิญหน้ากับโควิด 19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่แพร่ง่าย ติดง่าย ยิ่งกว่าสารพัดสายพันธุ์ที่ผ่านมา แต่มีข้อดี เพราะข้อมูลทางวิชาการยืนยันตรงกันว่า “รุนแรงน้อยกว่า” จึงถือว่าเป็นโอกาสในวิกฤติ ที่แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ จำนวนไม่น้อยทำนายว่า “โอมิครอน” จะเป็น “วัคซีนธรรมชาติ” สำหรับมวลมนุษยชาติ กระนั้น ก็ยังวางใจไม่ได้ รัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขยกการ์ดสูง กระทั่งมีแรงเสียดทานจากประชาชนบางส่วน ว่าภาครัฐ กำลังกระต่ายตื่นตูมกันไปเอง จนทำลายบรรยากาศด้านการจับจ่ายใช้สอย แต่กระทรวงสาธารณสุข ทราบดีว่า แม้ไวรัสตัวนี้ ความรุนแรงจะต่ำกว่า แต่ถ้าติดกันมากเข้า ผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ก็ย่อมมีจำนวนมากตาม และถ้าปล่อยไว้ ย่อมกระทบกับระบบสาธารณสุขไทยทั้งระบบแน่นอน

การระบาดของโอมิครอน คือ ความท้าทาย ของกระทรวงสาธารณสุข ไปจนถึงรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงอย่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล ในโจทย์ที่ต่างไปจากเดิม เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า ตัวเลือก เรื่องการปิดบ้านปิดเมืองนั้น แม้จะมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคระบาด แต่แรงต้านจากประชาชนรุนแรงแน่นอน การล็อกดาวน์จึงกลายเป็นทางเลือกสุดท้าย จะใช้กันที ต้องคิดกันหลายตลบ จากนี้ ทางกระรวงฯ ต้องออกมาตรการ ที่สอดคล้องกับธรรมชาติของโรค และต้องให้คนไทย ได้กลับมาใช้ชีวิต เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พูดชัด ด้วยความรุนแรงที่ลดลง ของเชื่อโอมิครอน มีความเป็นไปได้ว่า โควิด 19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นใน 1 ปี โดยดูจากอัตราการสูญเสียที่ลดลงเรื่อยๆ จาก 3% สู่ 1% และในอนาคต ยอดเสียชีวิต ต่อจำนวนผู้ติดเชื้อน่าจะเหลือ 0.1%  แต่กว่าจะถึงตอนนั้น รับรองว่า จะต้องเผชิญกับแรงเสียดทานทางสังคม ที่มีเรื่องของการชิงเหลี่ยมการเมืองผสมโรง ให้ คน สธ. เหนื่อยหนัก 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขไทยนั้น ได้ชื่อว่าเป็นกระทรวงฯ ที่มีความแข็งแกร่ง และยังไม่เคยพ่ายศึกด้านสุขภาพ มั่นใจว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมา จะสามารถนำไปปรับใช้กับการระบาดครั้งนี้ได้ โดยนายอนุทิน ได้สั่งการเตรียมความพร้อมอยู่ตลอด นอกจากนั้น ยังปรับแผนให้ทันกับสถานการณ์ อาทิ ล่าสุด ตั้งทีมออกตรวจ ATK แบ่งเบางานหนัก ในพื้นที่ กทม. ไปพร้อมกับเร่งกระจายชุดตรวจอีก 1 ล้านชุด ลงพื้นที่ชุมชน ขณะเดียวกัน ยังประสานให้องค์การเภสัชกรรม จัดหา และส่งชุดตรวจลงพื้นที่ไปให้ได้มากที่สุด และต้องจำหน่ายในราคาทุนเท่านั้น เพื่อประคองราคาในตลาด ไม่ให้ส่งผลเป็นภาระค่าใช้จ่ายกับประชาชนจนเกินไป

โควิด 19 ระบาดรอบนี้ สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ กระทรวงคุณหมอ มีแนวทางชัดเจนว่า ผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ หรืออาการน้อย จะให้รับการรักษาที่บ้านหรือในชุมชน ขณะที่เตียง จะสำรองไว้ใช้กับผู้ป่วยอาการปานกลางถึงหนัก เป็นการจัดสรรทรัพยากรเพื่อลดอัตราการสูญเสีย กระนั้น ก็มีเสียงค่อนขอดว่า เป็นการปล่อยคนกลับบ้านไปเผชิญทุกข์ ทั้งที่นี่ คือ แนวทางการรักษาที่ผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ และเป็นมาตรการที่ช่วยกู้สถานการณ์เมื่อครั้งที่ไทยต้องเผชิญกับโควิด 19 สายพันธุ์เดลต้า

แนวทางการรักษาปัจจุบัน ผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อ และตรวจ ATK ด้วยตนเองแล้วพบว่าผลเป็นบวก ให้ติดต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เบอร์ 1330 หรือไลน์ @สปสช หรือเว็บไซต์ของสปสช. นอกจากนี้สามารถติดต่อคอลเซนเตอร์ของจังหวัด หรืออำเภอได้ โดยจะมีหน่วยประเมินอาการ หากพบว่ามีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ จะเข้าสู่ระบบการรักษา HI หรือ CI โดยใช้เวลารักษาประมาณ 10 วัน แต่หากมีอาการปานกลาง หรือมีปัจจัยเสี่ยง จะเข้ารักษาที่ Hospitel โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลัก

ในส่วนของผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อตรวจ ATK แล้วผลเป็นลบ หากมีอาการให้ไปที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR แต่หากมีความเสี่ยงต่ำให้ปฎิบัติตามมาตรการ DMHTT แต่ถ้ามีความเสี่ยงสูงให้ทำ Self Quarantine และตรวจ ATK ซ้ำทุก 3 วัน หรือเมื่อมีอาการ

สำหรับเกณฑ์การส่งต่อผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล คือ

1.เมื่อมีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส ระยะเวลานานกว่า 24 ชั่วโมง 2. หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง ต่อนาที (ผู้ใหญ่) 3. Oxygen saturation น้อยกว่า 94%

4. โรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง ในกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) ที่มีความเสี่ยง หรือผู้ติดเชื้อที่จำเป็นต้องติดตามอาการอย่าใกล้ชิดตามดุลยพินิจของแพทย์

และ 5. ในเด็กที่มีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนม หรือทานอาหารน้อยลง และมีอาการถ่ายเหลว อย่างไรก็ดี เด็กไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลทุกราย ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์

มีการเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยในระบบ HI และ CI ทั้งการติดต่อกลับภายใน 6 ชั่วโมง และการเตรียมของจำเป็นในการรักษา นอกจากนี้ ได้มีการเตรียมความพร้อมในการรักษาผู้ป่วยเด็กอายุ 5-11 ปี ทั้งการเตรียมยาน้ำ และเตียง รวมถึงมีการจัดเตรียมเตียงสำหรับแรงงานต่างด้าวด้วย

ส่วนอัตราการครองเตียง ณ ปัจจุบัน หรือวันที่ 10 มกราคม 2565 ทั่วประเทศอยู่ที่ 178,139 เตียง โดยอัตราการครองเตียงสีเหลือง และแดงลดลง ในขณะที่เตียงสีเขียวมีอัตราการครองเตียงที่มากขึ้น ทั้งนี้ ยังไม่มีการขยายโรงพยาบาลสนาม เนื่องจากจะใช้ "HI & CI First" เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยอาการหนักได้อย่างทั่วถึง

ในส่วนของสายด่วน สปสช. 1330 ขณะนี้ระบบรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีความพร้อมในการให้บริการเต็มที่ โดยมีการเตรียมคู่สายจำนวน 3,000 คู่สาย และผู้รับโทรศัพท์ 300 คน ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

ในส่วนของยาจำเป็น ข้อมูลล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2564 หรือช่วงที่เริ่มตรวจเจอโอมิครอน พบว่า ในประเทศไทย มียาฟาวิพิราเวียร์สำรองประมาณกว่า 15 ล้านเม็ด ซึ่งประมาณการใช้ได้อย่างน้อย 2 เดือน แต่หากมีสถานการณ์ที่ต้องการยา  องค์การเภสัชกรรม(อภ.)มีการสำรองวัตถุดิบและสามารถผลิตยาได้อีก 60 ล้านเม็ด นอกจากนี้ มียาเรมเดซิเวียร์สำรองไว้อีกกว่า 44,000 ไวอัล  

นับว่ากระทรวงสาธารณสุข ที่มีนายอนุทิน คอยกำกับดูแล เตรียมการไว้อย่างรัดกุมไม่ประมาท สมกับเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขมั่นคงอันดับ 5 ของโลก จากการจัดอันล่าสุด เมื่อช่วงธันวาคม 2564 โดยมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ระบาดเวฟ 5 ยังอยู่ในจุดเริ่มต้น ยอดผู้ติดเชื้อ ยังไม่ไปถึงจุดสูงสุด การบริหารจัดการ ณ ปัจจุบัน จึงเข้าที่เข้าทาง ส่วนสำคัญ เพราะแผนการฉีดวัคซีนของไทยนั้น บรรลุเป้า 100 ล้านโดส ทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้กันอย่างทั่วถึง ผู้ป่วย ที่ติดเชื้อ และแสดงอาการจึงมีน้อย และอยู่ในจุดที่ระบบสามารถรับมือได้

กระนั้นแล้ว ด้วยความสามารถเฉพาะตัวของโรค ที่ติดง่าย แพร่ง่าย ขณะที่ประชาชนคนไทย ไม่พร้อมที่จะกลับไปล็อกดาวน์อีกรอบ เหล่านี้ คือ สารพัดโจทย์ท้าทาย ให้นายอนุทิน และกระทรวงสาธารณสุขไทย ต้องหาทางแก้ เพื่อพิสูจน์ชื่อชั้นประเทศที่มีระบบสุขภาพยอดเยี่ยมติดอันดับโลก




กำลังโหลดความคิดเห็น