วุฒิสภา - กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. แนะจัดระเบียบการกระจายและการเข้าถึงวัคซีนให้สะดวกยิ่งขึ้น รวมทั้งต้องเร่งจัดการระบบการสื่อสารกับประชาชน ที่จะต้องมีความชัดเจนและถูกต้องของข้อมูล ก่อนประชาชนจะตื่นตระหนกจนกระทบต่อระบบสาธารณสุขของชาติ
การประชุมคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ครั้งที่ 1/2565 วันที่ 10 มกราคม 2565 โดยมี นายสมชาย แสวงการ เป็นประธาน ได้มีการหยิบยกสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ระลอกที่ 5 ด้วยความห่วงใยต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ส่งกระทบหลายด้าน คณะกรรมาธิการจึงได้มีการสรุปความคิดเห็นเป็นข้อเสนอแนะเป็นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์สถานการณ์โควิด-19 เพื่อพิจารณาดำเนินการ จำนวน 4 ประเด็น
1. จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” (ระลอกที่ 5) ซึ่งมีการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้ประชาชนจำนวนมากทั้งผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และผู้ที่ความต้องการที่จะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็ม 3) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโรคดังกล่าว แต่ เนื่องจากระบบในการจองวัคซีนดังกล่าวมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานเปิดให้จองฉีดวัคซีน จึงทำให้ประชาชนเกิดความสับสนในการเข้ารับการฉีดวัคซีน ดังนั้น รัฐบาลควรหาแนวทางการบริหารจัดการระบบการกระจายวัคซีนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบการจองวัคซีนได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น
2. จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อดังกล่าว พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นและคาดว่า ในอนาคตอาจจะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ทั้งโรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลสนาม ที่ไม่สามารถจัดสรรการรักษาพยาบาลให้เพียงพอต่อผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ ดังนั้น รัฐบาลควรจัดระบบการรักษาพยาบาลให้มีความชัดเจน เพื่อให้ระบบสาธารณสุขของประเทศรองรับผู้ติดเชื้อที่จะเพิ่มขึ้นได้ เช่น กลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรง (กลุ่มสีเขียว) ควรกักตัวและรักษาอาการป่วยที่บ้านพัก (Home Isolation) กลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงกลุ่มที่มีโรคประจำตัวและเด็กให้ส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เป็นต้น
3. ปัจจุบันประชาชนมีความต้องการชุดตรวจการติดเชื้อโรคโควิด-19 (Antigen test kit หรือ ATK) เป็นจำนวนมาก เพื่อใช้ในการตรวจหาเชื้อภายในครอบครัว จึงเห็นว่า รัฐบาลควรจัดหาชุดตรวจดังกล่าวที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน รวมทั้งให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม
4. รัฐบาลควรมีการสื่อสารข้อมูลการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รำลอกที่ 5 กับประชาชนโดยตรง ทั้งในเรื่องการเข้ารับการรักษาพยาบาล การเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการเตรียมความพร้อมและรองรับการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการ ยังระบุว่า การทำหนังสือข้อเสนอแนะ ต่อนายกรัฐมนตรี ครั้งนี้ คณะกรรมาธิการ ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยภาครัฐในการมุ่งหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและป้องกันการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกภาคส่วนที่จะร่วมมือกันให้ประเทศผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ด้วยกัน