xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละ! เงินกู้ 1.5 แสน ล.เยียวยาเกษตรกรหัวละหมื่นห้า “สตง.” พบเสียหาย 228 ล.ไม่ผ่านเกณฑ์ 2.4 แสนราย 1.5 หมื่นพิสูจน์ไม่ได้เป็นเกษตรกร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชำแหละ! เงินกู้สู้โควิด ก.เกษตร 1.5 แสนล้านบาท ปีงบ 63 ผ่านโครงการ “เยียวยาเกษตรกร” แจกตรงหัวละ 1.5 หมื่น 10 ล้านราย ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคร้าย เผย “สตง.” พบเสียหายกว่า 228 ล้านบาท หลากสาเหตุ ตะลึง! เกษตรกรไม่ได้รับเงิน 241,491 ราย เหตุมีหลักเกณฑ์ไม่เป็นไปตามที่กำหนด แถมกว่า 15,696 ราย ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเกษตรกร

วันนี้ (7 ม.ค. 65) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.เผยแพร่ผลการตรวจสอบโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ เป็นโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่ 2 ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบใน พ.ศ. 2563

โครงการเงินกู้ 1.5 แสนล้าน ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการช่วยเหลือ เยียวยาให้กับเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากและเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและครอบครัว ให้มีรายได้เพื่อการดำรงชีวิตในช่วงภาวะวิกฤติ

“จ่ายเงินช่วยเหลือโดยตรงรายละ 15,000 บาท ให้แก่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายไม่เกิน 10 ล้านราย รวมวงเงินของโครงการไม่เกิน 150,000 ล้านบาท”

สตง.ดำเนินการตรวจสอบ ตั้งแต่เดือน เม.ย. 63 จนสิ้นสุด 30 ก.ย. 63 พบว่า ผลการดำเนินโครงการบางส่วนไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนด

มีเกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่โครงการกำหนด ถึง 12,516 ราย แยกเป็นเกษตรกรที่ได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการที่ไม่ได้ประกอบการเกษตร 22 ราย

แบ่งเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร 19 ราย กรมประมง จำนวน 2 ราย และการยางแห่งประเทศไทย จำนวน 1 ราย รวมเป็นเงินจำนวน 270,000 บาท

อีก 1 ราย ที่ขึ้นหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนกับทั้งกรมหม่อนไหมและกรมส่งเสริมการเกษตร ได้แจ้งยกเลิกการประกอบการ แต่ยังคงได้รับเงินช่วยเหลือ 15,000 บาทตามฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกร

ยังพบว่า เกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือไม่ได้ขึ้นหรือปรับปรุงทะเบียนถึง 1,780 ราย วงเงินช่วยเหลือ 26 ล้านบาทเศษ แยกเป็น เกษตรกรขึ้นหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรก่อนปีการผลิต 2562 จำนวน 234 ราย

ขึ้นหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรตามวันที่โครงการกำหนด และได้แจ้งยกเลิกกิจกรรมการเกษตรก่อนวันครบกำหนดขึ้นหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรตามโครงการ 1,148 ราย

ขึ้นหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรหลังจากวันที่โครงการกำหนดจำนวน 164 รายและ เกษตรกรไม่มีรายชื่อในฐานข้อมูลเกษตรกรที่ขึ้นหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรระหว่างปีการผลิต 2562 และ 2563

และไม่พบว่ามีการแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลครัวเรือนและกิจกรรมการเกษตรในฐานข้อมูลเกษตรกรที่แจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลครัวเรือนและกิจกรรมการเกษตร จำนวน 234 ราย

“ยังพบว่า มีเกษตรกรที่ได้รับเงินช่วยเหลือ 15,696 ราย ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเกษตรกร ที่แจ้งยกเลิกกิจกรรมก่อนหรือหลังวันที่ขึ้นหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรตามวันที่โครงการกำหนด”

ขณะที่เกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ 10,713 ราย คิดเป็นเงินช่วยเหลือ 160.245 ล้านบาท แยกเป็น เกษตรกรมีพื้นที่ทำการเกษตรไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการขึ้นทะเบียนของกรมส่งเสริมการเกษตร 8,137 ราย วงเงิน 121.770 ล้านบาท

มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขเพิ่มเติมของกรมปศุสัตว์ 2,323 ราย โดยมีเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์เพียงชนิดเดียวและมีจำนวนสัตว์ที่เลี้ยงไม่เป็นไปตามที่กำหนด 2,108 ราย

และเกษตรกรที่ปลูกพืชอาหารสัตว์เพียงกิจกรรมเดียว 215 ราย รวงเงิน 34.690 ล้านบาท และเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยตามเงื่อนไขการขึ้นทะเบียน 253 ราย วงเงิน 3.785 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังพบเกษตรกรที่ได้รับเงินช่วยเหลือตามโครงการอีก 26,869 ราย มีความเสี่ยงที่จะเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย เนื่องจากอาจเป็นบุคคลต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยหรือเป็นบุคคลที่ได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมายแล้ว

“ยังพบว่า เกษตรกรผู้มีสิทธิตามโครงการไม่ได้รับเงินหรือได้รับเงินช่วยเหลือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด แยกเป็นเกษตรกรไม่ได้รับเงินหรือได้รับเงินต่ำกว่า 15,000 บาท พบว่า มีเกษตรกรไม่ได้รับเงินถึง 241,491 ราย แบ่งเป็นเกษตรที่ไม่ได้รับเงิน 223,036 ราย และที่ได้รับเงินต่ำกว่า 15,000 บาท จำนวน 18,455 ราย”

ส่วนกรณีได้รับเงินมากกว่า 15,000 บาท ทดแทนผู้เสียชีวิตที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการ 4,870 ราย พบว่า มีเกษตรกร ได้เงินมากกว่า 15,000 บาท 521 ราย เป็นการได้รับเกินสิทธิ 2.70 ล้านบาท

สำหรับผู้ที่ได้รับเงินช่วยเหลือไม่เป็นบุคคลตามรายชื่อผู้มีสิทธิตามโครงการ ที่หน่วยงานรับขึ้นทะเบียนแจ้งขอแก้ไขเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน 33 ราย และทุกรายได้รับเงินตามโครงการ จำนวน 15,000 บาท วงเงิน 495,000 บาท

"สตง.ยังสรุปว่า มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับบุคคลตามเงื่อนไขที่ 165,819 ราย ถือเป็นบุคคลที่ยังคงมีสัญญาส่งอ้อยให้แก่โรงงานหรือหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อยของ สอน. ในระหว่างปีการผลิต 2560 - 2563 จำนวน 75,497 ราย”

การตรวจสอบเรื่องสุดท้าย สตง. ระบุว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขจำกัดสิทธิในการเข้าร่วมโครงการเพื่อรับความช่วยเหลือจากโครงการให้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่รัฐทุกประเภท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

“เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐทุกประเภท ได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการจากหน่วยงานของตนเองอยู่แล้ว โดยกำหนดเงื่อนไขจำกัดสิทธิเฉพาะบุคคลที่ได้รับสิทธิสวัสดิการผ่านระบบข้าราชการของกรมบัญชีกลาง (ข้าราชการประจำและลูกจ้าง รวมถึงข้าราชการบำนาญ) เท่านั้น”

ยังไม่ครอบคลุมถึงข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการตุลาการข้าราชการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานองค์กรอื่นของรัฐที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการจ่ายตรงเงินเดือนและข้าราชการประจำของกรมบัญชีกลาง

จากตัวอย่างรัฐวิสาหกิจ สังกัดกกระทรวงเกษตรฯ 2 แห่ง พบว่ามีพนักงานและลูกจ้าง ได้รับเงินช่วยเหลือ 2,625ราย วงเงิน 39.375 ล้านบาท จากฐานข้อมูลเกษตรกรผู้ขอคืนสิทธิในการเข้าร่วมโครงการ 382 ราย พบสาเหตุของการคืนสิทธิเนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวน 104 ราย (ร้อยละ 27.23)

สตง. สรุปตอนท้ายว่า การที่ผลการดำเนินโครงการ พบว่า ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขที่กำหนด โดยมีเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือบางส่วนมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่โครงการกำหนด ไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือได้รับการช่วยเหลือไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์

และผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือตามโครงการบางส่วนไม่ได้เป็นผู้ที่มีสิทธิตามโครงการ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือยังไม่ครอบคลุมเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายตามโครงการ ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับคุณสมบัติเกษตรกรที่ได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการยังไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการ

โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขจำกัดสิทธิในการเข้าร่วมโครงการให้ครอบคลุมถึงเจ้าหน้าที่รัฐทุกประเภท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ของโควิด-19

“ส่งผลให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบบางส่วนไม่ได้รับการบรรเทาความเดือดร้อนของตนเองและครอบครัว และเกิดการใช้จ่ายเงินงบประมาณไปโดยไม่สมควรถึง 228.985 ล้านบาท รวมทั้ง ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของคนในสังคมเพิ่มมากขึ้น”

สตง.พบสาเหตุว่า เกิดจาก ฐานข้อมูลเกษตรกรของหน่วยงานรับขึ้นทะเบียนยังมีข้อจำกัด ในการนำมาใช้เป็นข้อมูลในการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรตามโครงการ

แนวปฏิบัติในการตรวจสอบยืนยันตัวตนและความถูกต้องคุณสมบัติของเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการไม่ชัดเจน กระบวนการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรขาดความละเอียด รอบคอบ และรัดกุมในการตรวจสอบ หรือสอบทานความถูกต้องและความซ้ำซ้อนของข้อมูล

ตลอดจนสิทธิที่เกษตรกรควรได้รับทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการดำเนินการจ่ายเงิน รวมทั้ง ขาดความละเอียด รอบคอบ และรัดกุมในการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขคุณสมบัติของเกษตรกรที่ได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการ

“ตลอดจนช่องทางการรับแจ้งเลขที่บัญชีมีเพียงช่องทางเดียว คือ การแจ้งข้อมูลทางเว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com ส่งผลให้เกษตรกรรายที่ไม่มีความรู้หรือไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ไม่ทราบถึงวิธีการและขั้นตอนในการแจ้งเลขที่บัญชี หรือไม่สามารถลงทะเบียนแจ้งเลขที่บัญชีเพื่อรับโอนเงินได้”

ทั้งนี้ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีข้อเสนอแนะให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิจารณาดำเนินการแก้ไขทั้งหมดแล้ว.


กำลังโหลดความคิดเห็น