xs
xsm
sm
md
lg

“ชวน” คาด ปี 65 กม.เข้าสภามากขึ้น แนะ รมต.เข้าฟังอภิปราย-ตอบกระทู้ ปัด ประเมินอายุรัฐบาลอยู่ครบเทอม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในปีหน้า
ประธานรัฐสภา คาด ปี 65 กม.เข้าสภามากขึ้น แนะ รมต.เข้าสภาฟังอภิปราย-ตอบกระทู้ เชื่อเป็นประโยชน์ประชาชน ปัด ประเมินอายุรัฐบาล แต่ในส่วนของสภาไม่เป็นอุปสรรคให้ฝ่ายบริหาร
วันนี้ (2 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติในปีหน้า ว่า ช่วงที่ผ่านมากฎหมายของฝ่ายบริหารทุกฉบับผ่านไปได้ด้วยดี แต่ในส่วนที่ยังค้างการพิจารณาอยู่ส่วนใหญ่เป็นญัตติทั่วไปประมาณ 200 ญัตติ และคิดว่าปีหน้าจะมีกฎหมายใหม่ๆเข้ามามากขึ้น ส่วนเรื่องที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว ถือเป็นผลงานของทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล ซึ่งเรื่องเหล่านี้ควรจะผ่านการพิจารณา ถ้าไม่ผ่านเท่ากับผลงานไม่ออกมาเลย ส่วนเรื่องที่มีปัญหาบ้าง และแนะนำเป็นการภายใน เป็นเรื่องของการตั้งกระทู้ถาม ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีสภาก็ไม่มีตัวอย่างในการตั้งกระทู้ ทำให้มีการตั้งกระทู้ลักษณะขัดต่อข้อบังคับ เพราะการตั้งกระทู้ไม่ใช่ลักษณะของการอภิปราย แต่เป็นการตั้งคำถามเพื่อต้องการคำตอบ ที่ผ่านมามีสมาชิกส่วนหนึ่งไม่เข้าใจ ซึ่งการตั้งกระทู้ถามตรวจสอบฝ่ายบริหารในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากเดิม เดิมเป็นกระทู้ถามทั่วไป แต่ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ และข้อบังคับ ให้มีกระทู้ถามสดด้วยวาจา ซึ่งรัฐมนตรีไม่มีโอกาสทราบคำถามล่วงหน้า เพราะเป็นเรื่องด่วน เรื่องที่ประชาชนสนใจ และกระทบผลประโยชน์ของประเทศ และยังมีกระทู้ถามแยกเฉพาะ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะที่ เฉพาะเรื่อง รวมทั้งยังมีกระทู้ทั่วไป ที่เป็นเรื่องในอดีตที่เคยทำมา ซึ่งสมาชิกมีสิทธิ์ที่จะตรวจสอบฝ่ายบริหารด้วยการใช้กระทู้เพิ่มขึ้นใน 2 ระบบ ทั้งนี้ เรื่องกระทู้ต่างๆ ถือเป็นวาระที่รัฐมนตรีจะต้องเตรียมตัว ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติจะทำหน้าที่ตรวจสอบ และสอบถามข้อมูล

ประธานรัฐสภา กล่าวด้วยว่า ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ส.ส.ถือว่าเป็นส่วนที่ช่วยได้มาก ตนขอชื่นชมทั้งฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายค้าน จากการลงพื้นที่ด้วยตนเอง จึงได้เห็นการช่วยเหลือจากทั้งส่วนรวม และส่วนตัว จากนั้น ได้นำปัญหาเข้ามาหารือในที่ประชุมสภา ดังนั้น แนวทางในการช่วยเหลือประชาชนช่วงวิกฤตโควิด-19 ส.ส.ถือเป็นกลุ่มแรกที่เข้าไปช่วยเหลือประชาชนมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ชาวบ้านร้องเรียนมาที่ตน ประมาณ 1 พันกว่าเรื่องในรอบปีที่ผ่านมา ซึ่งสมัยก่อนไม่มีคนร้องทุกข์มากขนาดนี้ แสดงว่าประชาชนหวังให้สภาเป็นที่พึ่งในหลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อเริ่มการประชุมในปี 65 จะมีการนัดประชุมชดเชยวันหยุดช่วงปีใหม่ โดยนัดประชุมนัดพิเศษวันที่ 14 และ 28 ม.ค. 65 และในวันพุธ พฤหัสบดี ของการประชุมสภา จะเพิ่มเวลาการประชุมขึ้นอีกประมาณ 2 ชม. ซึ่งคาดว่า ในปี 65 จะพิจารณาเรื่องที่ค้างอยู่ทั้งหมดให้แล้วเสร็จได้ ขณะที่ การประชุมรัฐสภา มีเรื่องที่ค้างอยู่ 3 เรื่อง โดยจะมีการหารือเพื่อกำหนดวันประชุมร่วมรัฐสภาต่อไป

เมื่อถามว่า มองว่า สถานการณ์ทางการเมืองในปี 65 จะเป็นอย่างไร เพราะยังมีความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นพอสมควร นายชวน กล่าวว่า ในส่วนของสภาส่วนตัวคิดว่าความคิดเห็นทางการเมืองที่ขัดแย้งกันนั้นยังคงมีอยู่ แต่ถือว่าเป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม เท่าที่ดูการทำงาน เชื่อว่าระบบนี้ยังสามารถเดินไปได้ปกติ ไม่น่าจะมีอะไรเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน การปฏิบัติภารกิจของนักการเมืองก็อยู่ในสายตาของประชาชนมากขึ้น ใครที่สร้างปัญหา ประชาชนจับตาดูอยู่ อีกทั้งในสมัยนี้ก็ปฏิเสธยาก เพราะมีการสื่อสารในหลายที่ แต่ถึงจะมีความขัดแย้งไม่พอใจเรื่องใดก็ตาม ก็ควรต้องอยู่ในกรอบที่สามารถควบคุมได้

เมื่อถามว่า ประเมินแล้วรัฐบาลจะสามารถอยู่จนครบวาระหรือไม่ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ส่วนตัวไม่สามารถประเมินฝ่ายบริหารได้ แต่ในส่วนของสภาคิดว่าไม่น่าจะเป็นอุปสรรคในการทำงานของฝ่ายบริหาร และฝ่ายอื่นๆ และเชื่อว่า ในระบบนี้ เราสามารถที่จะผ่านการปฏิบัติภารกิจของแต่ละฝ่ายไปได้ด้วยดี ตนได้ย้ำเตือนทุกครั้ง เมื่อพบฝ่ายบริหารก็ได้ย้ำว่าถึงอย่างไรก็ต้องมาตอบกระทู้ของสภา และเมื่อมีการเสนอญัตติในสภา ฝ่ายรัฐบาลต้องมาชี้แจงต่อสภา เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ และโอกาสที่จะได้ชี้แจงข้อมูลความจริงที่มีการตั้งประเด็น หากฝ่ายบริหารไม่ตอบสภา ประชาชนก็ไม่รู้ข้อมูล

“อย่างน้อยรัฐมนตรีควรเข้ามานั่งฟัง จะได้รู้ว่าเขากล่าวหาอย่างไร และใช้สิทธิชี้แจงว่าเรื่องนี้จริงหรือไม่จริง” นายชวน กล่าว
เมื่อถามว่า การทำหน้าที่ประธานสภา และประธานรัฐสภา มีความลำบากใจหรือมีความยากเย็นมากกว่าในอดีตหรือไม่ เพราะทุกพรรคการเมืองมีอุดมการณ์ และความขัดแย้งมากขึ้นกว่าเดิม นายชวน กล่าวว่า ยอมรับว่าในช่วง 5 ปีที่ไม่มีสภา เมื่อมีการเลือกตั้งสภาชุดใหม่ ทำให้ ส.ส.บางคนไม่เคยชินกับระบบ ดังนั้น เวลาใช้สิทธิในสภาบางคนก็ออกนอกกฎเกณฑ์ข้อบังคับ แต่เมื่อตนติหรือบอกให้รับทราบถึงข้อบังคับ ทุกคนก็ยอมรับ ทั้งนี้ การที่งานในสภาเป็นไปได้ด้วยดี ตนต้องขอบคุณรองประธานสภา ทั้งสองท่าน เพราะระบบปัจจุบัน ทำให้ต้องรับภาระหนักขึ้น ส่วนสมาชิกโดยรวม ข้อสังเกตที่เห็น คือ สมาชิกรัฐสภาปัจจุบันมีความรู้ แต่ที่อภิปรายปากเปล่าหรือที่ไม่อ่านหนังสือหรือไอแพดจะมีอยู่ส่วนหนึ่ง ขณะที่ สมาชิกอีกส่วนหนึ่งยังต้องอ่านเวลาขณะอภิปราย ซึ่งตามข้อบังคับการประชุมห้ามอ่านเอกสาร ทำให้ตนต้องคอยเตือนเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่ต้องประคับประคองให้สมาชิกได้ใช้สิทธิภายใต้กรอบและกติกา หากมีใครคนใดละเมิดกติกา ย่อมทำให้คนอีกคนทำตาม แต่ตนก็ให้โอกาสกับทุกคน เพราะเข้าใจดีว่าในสภานั้นคือที่พูดที่อภิปราย จึงต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้พูด ซึ่งจะพยายามให้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์


กำลังโหลดความคิดเห็น