“การเคหะแห่งชาติ” เดินหน้า โครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ใช้เป็น “เครื่องมือทางการเงิน” ช่วยผู้มีรายได้น้อยทุกกลุ่ม เป็นเจ้าของบ้านการเคหะแห่งชาติ ได้ง่ายขึ้น ย้ำงบปี64 ปล่อยสินเชื่อได้ 100% ของวงเงินที่ได้รับอนุมัติ
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจสำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อยและปานกลางทั่วประเทศ นับตั้งแต่ปี 2563 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งกระทบทั่วประเทศ ในฐานะหน่วยงานที่มีชุมชนอยู่ในความดูแลทั่วประเทศ ได้มีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการเงินและด้านสังคม หนึ่งในโครงการที่สำคัญคือ โครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2562 ให้การเคหะฯจัดทำโครงการดังกล่าว ในวงเงิน 5,207 ล้านบาท หลังจากนั้นได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการให้สินเชื่อเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัย (คบส.) เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2563 โดยมีผู้บริหารระดับสูงของการเคหะฯรวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ ร่วมกันทำหน้าที่บริหารการให้สินเชื่อเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ โดยปีงบประมาณ 2563 และปี 2564 สำนักงบประมาณ (สงป.) ได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้จำนวน 692.80 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2565 สงป. ได้จัดสรรงบประมาณให้จำนวน 264.429 ล้านบาท
นายทวีพงษ์กล่าวว่า โครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เป็น “เครื่องมือทางการเงิน” สามารถช่วยลูกค้าที่ซื้อบ้านของการเคหะแห่งชาติ แต่ไม่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อจากสถาบันการเงิน สามารถขอสินเชื่อผ่านโครงการดังกล่าว โดยจะมีคณะกรรมการบริหารสินเชื่อที่อยู่อาศัย (คบส.) ของการเคหะฯเป็นผู้พิจารณาให้สินเชื่อกับลูกค้า สำหรับปีงบประมาณ 2564 (เดือนต.ค.2563 - ก.ย. 2564) ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว จำนวน 640 ราย วงเงิน 418.77 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น ร้อยละ 60.45 ของวงเงินที่ได้รับอนุมัติในปีงบประมาณ 2563 และ ปี2564 สำหรับปีงบประมาณ 2565 ในเดือนต.ค.-พ.ย. 2564 ได้อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว จำนวน 185 ราย คิดเป็นวงเงิน 116.90 ล้านบาท และในเดือนธันวาคม 2564 อยู่ระหว่างการนำเสนอพิจารณาอนุมัติจำนวน 145 ราย คิดเป็นวงเงิน 91.090 ล้านบาท การบริหารโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสาหรับผู้มีรายได้น้อย ในปี 2564 การเคหะฯพิจารณาเห็นชอบนำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุดที่ 1 (เชิงสังคม) โครงการบ้านเอื้ออาทร จำนวน 322 โครงการ (ยกเว้นโครงการบ้านเอื้ออาทรพัทลุง โครงการรัฐเอื้อราษฎร์กองทัพเรือ และโครงการบ้านเอื้ออาทรสวนพลูพัฒนา) และโครงการเคหะชุมชน มาทำ “เช่าซื้อ” กับโครงการสินเชื่อฯ และเห็นชอบพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไข การเช่าซื้อโครงการสินเชื่อฯ โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2564
โดยเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกผู้เช่าซื้อ จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 1.มีสัญชาติไทย 2.รายได้ไม่เกินเดือนละ 41,600 บาทต่อครัวเรือน 3.เป็นผู้มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์แต่ไม่เกิน 60 ปี ในกรณีอายุเกิน 60 ปี ต้องหาผู้เช่าซื้อร่วมและจะมีการพิจารณาเป็นราย ๆ ไป 4.ทำสัญญาเช่าซื้อร่วมได้ไม่เกิน 2 คนต่อสัญญา โดยจะนำรายได้สุทธิของผู้เช่าซื้อทั้งหมดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาทำเช่าซื้อ 5.เป็นผู้มีอาชีพและรายได้ที่สามารถตรวจสอบได้และสอดคล้องกับหลักฐานที่นำมาแสดง 6.ให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลเครดิตบูโร 7.ยื่นคำขอเช่าซื้อและตอบแบบสัมภาษณ์การขอเช่าซื้อ พร้อมแสดงเอกสารหลักฐานครบถ้วน และในกรณีผู้เช่าซื้อที่ยื่นขอสินเชื่อฯ ถูกปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงินด้วยเหตุผลที่ระบุเกี่ยวกับสถานะด้านเครดิตบูโรหรือสินเชื่อ การเคหะแห่งชาติจะนำมาพิจารณาเป็นราย ๆ ไป ในด้านความคืบหน้าของโครงการสินเชื่อฯ เพื่อให้การช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง เป็นไปอย่างทั่วถึงและครอบคลุมยิ่งขึ้น การเคหะฯได้แต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนและยกระดับโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยให้เป็นกองทุนที่อยู่อาศัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา
นายทวีพงษ์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานที่ผ่านมา การเคหะฯ ได้มีการพิจารณาปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการเช่าซื้อโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย มาเป็นระยะเพื่อให้มีความสอดคล้องกับ “ปัญหา” ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่เข้าไม่ถึงสินเชื่ออย่างแท้จริง พร้อมกันนี้ ยังได้มีการออกโปรโมชั่นต่าง ๆ ของโครงการสินเชื่อฯ เพื่อช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มนี้ ยกตัวอย่างในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ได้ออกมาตรการ “โปรโมชั่นดอกเบี้ยเช่าซื้อ 0%” เข้ามาช่วยเหลือลูกค้าที่ต้องการซื้อบ้านการเคหะฯ แต่ไม่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อจากสถาบันการเงิน สามารถมาขอสินเชื่อในโครงการฯ นี้ โดยล่าสุดได้ขยายกรอบเวลาโปรโมชั่นไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564
“การเคหะฯมีภารกิจหลักในการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในทุกกลุ่มเป้าหมาย พร้อมให้ความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยสามารถเป็นเจ้าของบ้านได้ง่ายขึ้น ซึ่งอุปสรรคที่สำคัญส่วนใหญ่คือ การเข้าไม่ถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาและตอบโจทย์ลูกค้าในกลุ่มนี้โดยเฉพาะ พร้อมสร้างความมั่นคงในด้านที่อยู่อาศัยให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย” นายทวีพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย