“วราวุธ” เข้ม สั่งทุกหน่วยบูรณาการหยุดขบวนการลักลอบตัดไม้ กรมป่าไม้จับมือกองทัพภาคที่ 4 กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดยุทธการดูแลป้องกันรักษาป่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ “สุรชัย อจลบุญ” อธิบดีกรมป่าไม้ แจงไม้ที่ขึ้นหรือปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
วันนี้ (16 ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ พร้อมด้วย พลโท เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 นายชีวะภาพ ชีวะธรรม รองอธิบดีกรมป่าไม้ นายสมบูรณ์ ธีรบัณฑิตกุล ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า ผอ.ศปพ.จชต. กรมสอบสวนคดีพิเศษ เจ้าหน้าที่ ศปป.4 ได้ร่วมประชุมแนวทางการป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ห้องประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ทั้งนี้ ในที่ประชุม อธิบดีกรมป่าไม้ได้เน้นถึงการสนธิกำลังในการปฏิบัติงานด้านป้องกันและรักษาป่า การจัดทำแผนในการหยุดยั้งการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส ต่อจากนั้น อธิบดีกรมป่าไม้พร้อมด้วย แม่ทัพภาคที่ 4 และคณะได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อบินตรวจสอบสภาพป่าในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส
ทั้งนี้ นายสุรชัย เปิดเผยว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีความห่วงใยเกี่ยวกับปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก จึงได้มีข้อสั่งการให้กรมป่าไม้ได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทัพภาคที่ 4 ในการกำหนดมาตรการด้านการป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยในปัจจุบันสภาพพื้นที่ป่าไม้กลุ่มจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันมีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 10,936.864 ตร.กม. หรือประมาณ 6.80 ล้านไร่ แบ่งเป็น จังหวัดปัตตานี พื้นที่ป่า 68,556.30 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 5.5 ของพื้นที่จังหวัด จังหวัดยะลา พื้นที่ป่า 908,973.23 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 32.49 ของพื้นที่จังหวัด และจังหวัดนราธิวาส พื้นที่ป่า 2,807,081.61 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 26.59 ของพื้นที่จังหวัด
“กรมป่าไม้ได้เร่งดำเนินการประสานสร้างความร่วมมือไปยังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้ออกระเบียบเกี่ยวกับแนวทางการป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ทส 1605.43/18031 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1-13 และทุกสาขาดำเนินการและถือปฏิบัติ โดยให้กำชับเจ้าหน้าที่หมั่นตรวจตรา เฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน และปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ในท้องที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เมื่อตรวจพบการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ให้บังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด และให้บูรณาการความร่วมมือหยุดยั้งขบวนการลักลอบค้าไม้ผิดกฎหมาย และปราบปรามการลักลอบตัดไม้มีค่าในป่ามาสวมสิทธิ์เป็นไม้ถูกกฎหมาย ให้ใช้มาตรการปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายตามกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมาย ข้อระเบียบ มาตรการ และแนวทางปฏิบัติที่กรมป่าไม้กำหนด และบูรณาการทางกฎหมายหาข้อกำหนดรูปแบบความเกี่ยวเนื่องร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ในท้องที่รับผิดชอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ”
“พร้อมกันนี้ ขอชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนเจ้าของที่ดินสำหรับในกรณีไม้ที่ขึ้นหรือปลูกในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินประกอบด้วย ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยูงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ชิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย ถือว่าไม่เป็นไม้หวงห้าม ตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 สามารถนำที่ดินมาขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นสวนป่า ตาม พ.ร.บ.สวนป่า พ.ศ. 2535 อีกทั้งเมื่อมีการตัดฟันไม้ออกจากสวนป่าและนำเคลื่อนย้าย จะได้มีเอกสารหลักฐานเพื่อใช้กำกับควบคุม สำหรับในส่วนของประชาชนที่เป็นเจ้าของสามารถทำหลักฐานยืนยันความเป็นเจ้าของไม้ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยจัดทำหนังสือรับรองตนเองว่า ไม้ที่นำเคลื่อนย้ายเป็นไม้ที่ได้มาจากที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน โดยมีกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านลงนามเป็นพยาน” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าว