“ศักดิ์สยาม” เปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการขนส่งเอสแคป ครั้งที่ 4 พัฒนาการขนส่งที่ยั่งยืน ชูปลอดภัยทางถนน และขนส่งคาร์บอนต่ำ
วันนี้ (16 ธ.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการขนส่งเอสแคป ครั้งที่ 4 (Fourth Ministerial Conference on Transport)ร่วมกับ นาง Armida Salsiah Alisjahbana เลขาธิการบริหารเอสแคป ในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ร่วมด้วยผู้แทนจาก กรมเจ้าท่า กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย และ กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมประชุมฯ การประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการขนส่งเอสแคป ครั้งที่ 4 (Fourth Ministerial Conference on Transport) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-17 ธันวาคม 2564 โดยแบ่งการประชุมออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่
1) การประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูง ระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคม 2564 และ 2) การประชุมระดับรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 16-17 ธันวาคม 2564 จัดขึ้นเพื่อหารือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศสมาชิกเอสแคปในการพัฒนาโครงการด้านการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือระดับภูมิภาค โดยสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรี ได้มีการจัดประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Roundtable)เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการตามร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคสำหรับการพัฒนาด้านการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ค.ศ. 2022-2026) การกล่าวถ้อยแถลงเชิงนโยบายของประเทศสมาชิก ด้านการพัฒนาข้อริเริ่มด้านการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ด้านความร่วมมือในระดับภูมิภาค รวมไปถึงการร่วมรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีด้านการพัฒนาการขนส่ง ที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รวมถึงร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคสำหรับการพัฒนาด้านการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ค.ศ. 2022-2026)
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้กล่าวเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคสำหรับการพัฒนาด้านการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ค.ศ. 2022-2026 กับการดำเนินนโยบายที่สำคัญของไทยเพื่อมุ่งสู่การขนส่งที่ยั่งยืน โดยได้นำเสนอนโยบายที่สำคัญของไทย เช่น การสร้างความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคผ่านโครงการ MR-MAP การพัฒนาระบบรถไฟรางคู่และระบบการขนส่งมวลชนสาธารณะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล การให้ความสำคัญกับระบบดิจิทัลด้านการขนส่งผ่านการพัฒนาระบบ National Single Window เพื่อเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกด้านการจราจรและการขนส่งทางทะเล การพัฒนาระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-flow) รวมถึงการผลักดันอุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน หรือ Ride-hailing นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอเกี่ยวกับนโยบายและแผนงานด้านการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการจัดทำแผนปฏิบัติการการตั้งเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศภาคการขนส่งเพื่อตั้งเป้าสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนการมุ่งสู่การพัฒนาด้านความปลอดภัยทางถนนผ่านโครงการที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมแผ่นยางพาราครอบแบริเออร์ (Rubber Fender Barrier) การยกระดับมาตรฐานของโครงข่ายถนนทางหลวงและทางหลวงชนบทผ่านการออกกฎกระทรวงกำหนดความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบท และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ด้วยการพัฒนาระบบการประมูลป้ายทะเบียนรถยนต์แบบพิเศษซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาความปลอดภัยบนท้องถนนอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ได้พบหารือกับนาง Armida Salsiah Alisjahbana เลขาธิการบริหารเอสแคป ร่วมกับ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และ นายประภัทรเผ่า อาวะกุล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็นที่จะมีการหารือในการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการขนส่งเอสแคป ครั้งที่ 4 รวมถึงได้นำเสนอนโยบายด้านการขนส่งที่สำคัญของไทยที่สอดคล้องกับร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคสำหรับการพัฒนาด้านการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ค.ศ. 2022-2026) โดยเฉพาะในด้านการสร้างความเชื่อมโยงการขนส่ง ด้านความปลอดภัยทางถนน และด้านการขนส่งคาร์บอนต่ำ รวมถึงแสดงความมุ่งมั่นในการสร้างความร่วมมือกับเอสแคปในอนาคตเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาระบบการขนส่งที่ยั่งยืน ของไทยต่อไป