มติสภาสกัดญัตติขบวนเสด็จฯของก้าวไกล วิปรัฐบาลแก้เกมเสนอลงมติแบบขานชื่อ ดึงเวลาลากส.ส.มาลงคะแนนจนรอดอย่างหวุดหวิด
วันนี้ ( 1 ธ.ค. ) ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระ น.ส.วรรณวรี ตะล่อมสิน ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล เสนอให้เลื่อนญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาข้อเท็จจริงในข้อบกพร่องการกำหนดเส้นทางเสด็จ และการถวายความปลอดภัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 14 ต.ค. พ.ศ. 2563 เสนอโดย พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคณะเสนอ ซึ่งกำหนดไว้ในการประชุมวันที่ 2ธ.ค. หลังการลงมติในญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจร โดยมีผู้รับรองถูกต้อง แต่ได้รับการคัดค้านจากส.ส.ฝั่งรัฐบาล คัดค้าน
โดยนายอรรถกร ศิริลัทธธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะตัวแทนวิปรัฐบาล ขอให้พักการประชุม 15 นาที เพื่อตกลงร่วมกันและไม่เสียเวลาที่ประชุม ซึ่งนายชวน อนุญาตให้พักประชุม 10 นาที อย่างไรก็ดีหลังพักการประชุมแล้วไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ ทำให้ต้องใช้การลงมติเพื่อตัดสิน
น.ส.วรรณวรียืนยันขอให้มีการอภิปรายเพื่อแสดงความเห็นก่อนการลงมติ โดยระบุว่า สภาฯ ต้องร่วมสืบหาข้อเท็จจริงพื่อให้ความยุติธรรมกับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 111 และต้องถอดบทเรียนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น หากญัตติดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณาจะทำให้ญัตติด่วนอื่นๆที่สำคัญไม่สามาถพิจารณาได้ แม้จะเลื่อนขึ้นมาพิจารณาก่อน จะเท่ากับว่าไม่ให้ความสำคัญกับญัตติดังกล่าว
ขณะที่นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะวิปรัฐบาล อภิปรายว่า ขอให้ฝ่ายค้านใช้กลไกของวิป เพื่อหารือร่วมกัน และยอมรับกลไกของข้อบังคับการประชุมสภาฯ ไม่ใช่เสนอเลื่อนโดยไม่บอก หรือใช้กลไกนับองค์ประชุม หรือลงมติเพื่อทำให้ที่ประชุมเสียเวลา ทั้งนี้ตนขอให้ดำเนินการตามระเบียบวาระ ส่วนประเด็นที่ฝ่ายค้านต้องการควรใช้กลไกของวิปเพื่อทำงานร่วมกัน และเป็นไปตามข้อตกลง
อย่างไรก็ดี ก่อนการลงมติ นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานวิปรัฐบาล เสนอญัตติให้เปลี่ยนการลงมติจากเดิมที่ต้องกดบัตรออกเสียง เป็นการเปิดเผยด้วยการขานชื่อทำให้ที่ประชุมต้องตรวจสอบองค์ประชุมและขอมติในญัตติที่จะเปลี่ยนแปลงการลงมติดังกล่าวก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายนิโรธ เสนอนั้น ส.ส.ฝั่งรัฐบาลมานั่งในห้องประชุมอย่างบางตา โดยผลการตรวจสอบองค์ประชุม พบว่ามีผู้แสดงตนรวม 269 เสียง และ 219 เสียงมีมติเห็นด้วยกับการลงมติแบบขานชื่อ จากนั้นได้มีการลงมติด้วยการขานชื่อ ผลปรากฎ เสียงส่วนใหญ่ 246 ต่อ 45 เสียง ไม่เห็นด้วยที่จะเลื่อนญัตติดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา