xs
xsm
sm
md
lg

ดุสิตโพลชี้ส่วนใหญ่มีหนี้บัตรเครดิตสินเชื่อ หนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 1.2 ล. เครียดปานกลางพึ่งตนเองแก้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สวนดุสิตโพล สำรวจภาวะหนี้คนไทย ส่วนใหญ่มีหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้ครัวเรือน เฉลี่ย 1.2 ล้านบาท ส่วนมากคิดว่าใช้ได้หมด เครียดวิตกกังวลปานกลาง พฤติกรรมหลังมีหนี้ คือ วางแผนใช้จ่ายรัดกุม แก้ปัญหามีวินัยวางแผนอดออม พึ่งตนเอง

วันนี้ (28 พ.ย.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเฉพาะผู้ที่มีหนี้สินทั่วประเทศต่อกรณี “ภาวะหนี้สินของคนไทย” จำนวนทั้งสิ้น 1,059 คน ระหว่างวันที่ 22-25 พฤศจิกายน 2564 พบว่า ส่วนใหญ่ประชาชน มีหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลมากที่สุด ร้อยละ 46.52 รองลงมาคือ สินเชื่อที่อยู่อาศัย ร้อยละ 39.85 มีหนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนละประมาณ 1,248,847.03 บาท โดยคาดว่าใช้หนี้ได้ทั้งหมด ร้อยละ 71.11 รู้สึกเครียดและวิตกกังวลเกี่ยวกับหนี้สินปานกลาง ร้อยละ 38.15 เมื่อมีหนี้สินจึงวางแผนการใช้จ่ายให้รัดกุมมากขึ้น ร้อยละ 60.23 ทั้งนี้การแก้ปัญหาหนี้สินต้องแก้ด้วยตนเอง มีวินัย วางแผนการใช้จ่าย อดออม ร้อยละ 80.88 รองลงมาคือ รัฐปรับโครงสร้างหนี้ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 61.85 และมองว่า “ตนเอง” ที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้ ร้อยละ 89.23 รองลงมาคือ ครอบครัว คนใกล้ชิด ร้อยละ 46.33

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยจากผลการสำรวจ พบว่า กลุ่มที่มีหนี้บัตรเครดิตมากที่สุด คือ พนักงานเอกชน และราชการ ส่วนกลุ่มลูกจ้าง/รับจ้างส่วนใหญ่มีหนี้น้อยกว่า 5 แสนบาท กลุ่มราชการมีหนี้ประมาณ 1 ล้านบาทขึ้นไป โดยกลุ่มลูกจ้าง/รับจ้างมีความเครียดเกี่ยวกับหนี้สินมากกว่ากลุ่มอื่นๆ อาจเป็นเพราะความไม่มั่นคงในหน้าที่การงาน รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ตัวเลขคนตกงานพุ่งสูงขึ้นถึง 8.7 แสนคน ปัญหาหนี้สินจึงเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของประชาชน และก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา ภาครัฐจึงควรมีมาตรการช่วยเหลือทั้งระบบ เช่น การเพิ่มรายได้ ลดค่าครองชีพ ปรับโครงสร้างหนี้ ฯลฯ เพื่อช่วยให้ประชาชนมีความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มมากขึ้น

อาจารย์วณิชยา ศีลบุตร อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การวิเคราะห์และการประเมินสมัยใหม่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลโพลสะท้อนให้เห็นว่าการก่อหนี้แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่ (1) การก่อหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคและใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ได้แก่ หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และ (2) การก่อหนี้เพื่อซื้อทรัพย์สิน ได้แก่ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรถ กลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มที่ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ เพราะเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน จึงก่อหนี้จากบัตรเครดิตแทน ถึงแม้ว่าดอกเบี้ยจะสูงกว่าก็ตาม ซึ่งบัตรเครดิตไม่ได้ใช้แค่การอุปโภคบริโภค แต่เป็นการกดเงินสดออกมาเพื่อการลงทุนด้วยเช่นกัน สำหรับการลดภาระหนี้นั้น ประชาชนควรมีวินัยทางการเงิน สร้างรายได้เพิ่ม ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น การออมเงินก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ในปัจจุบันยังมีทางเลือกในการหารายได้เพิ่มโดยใช้เทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจต่ำลง อย่างไรก็ตาม ประชาชนควรหาความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีในการขายและทางการเงินเพิ่มเติม สำหรับหนี้ที่มีอยู่ควรใช้วิธีเจรจากับธนาคารเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และภาครัฐควรช่วยประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ


กำลังโหลดความคิดเห็น