โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ กล่าวถ้อยแถลง ASEM 13 ย้ำความสำคัญของ “การเสริมสร้างพหุภาคีนิยมเพื่อการเติบโตร่วมกัน” พร้อมผลักดันความร่วมมือเอเชีย-ยุโรป ที่เป็นรูปธรรม
วันนี้ (26 พ.ย.) เวลา 15.00 น. ตามเวลาประเทศไทย ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศไทย สำหรับการประชุมเต็มคณะ (Plenary) ช่วงที่ 2 ภายใต้หัวข้อ “โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กับการฟื้นตัวและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม” ในการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 13 (Asia-Europe Meeting: ASEM 13) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดย นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวต้อนรับ และเน้นย้ำประเด็นสำคัญภายใต้หัวข้อการประชุม ได้แก่ การรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคม และการสร้างอนาคตที่เข้มแข็ง โดยการหารือร่วมกันจะเป็นทางออกที่ดีของทั้งสองภูมิภาค นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการฟื้นฟูการเดินทางและรักษาห่วงโซ่อุปทานทางการค้าระหว่างกัน
ประธานคณะมนตรียุโรปเน้นย้ำประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม และสนับสนุนให้เอเชียและยุโรปเพิ่มพูนความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานด้านเวชภัณฑ์ 2. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยส่งเสริมให้มีการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3. การส่งเสริมการค้าระหว่างกัน โดยเน้นย้ำการแข่งขันบนพื้นฐานที่เท่าเทียม และ 4. ความเชื่อมโยงและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการพัฒนาทางด้านดิจิทัล
นายกรัฐมนตรีไทย เห็นว่า เป็นโอกาสดีที่ผู้นำจากเอเชียและยุโรปได้หารือเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาระดับโลกในปัจจุบันที่เกิดจากการขาดสมดุล ทั้งวิกฤตโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยปัญหาระดับโลกเหล่านี้ ตอกย้ำถึงความจำเป็นของ “การเสริมสร้างพหุภาคีนิยมเพื่อการเติบโตร่วมกัน” โดยสิ่งสำคัญคือ การผลักดันพหุภาคีนิยมเป็นความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในโลกยุคหลังโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นคงของมนุษย์ให้แก่ประชาชนของทั้งสองภูมิภาค โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเสนอความร่วมมือระหว่างสองภูมิภาคเพื่อไม่ให้โลกยุค Next Normal เกิดวิกฤตเช่นนี้อีก ดังนี้
ประการแรก การฟื้นตัวต้องมีความสมดุล เอเชียและยุโรปควรสนับสนุนนโยบายการฟื้นฟูของกันและกัน โดยคำนึงถึงความสมดุลของสรรพสิ่ง ซึ่งไทยได้ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นยุทธศาสตร์ในการพลิกโฉมประเทศไปสู่ยุค Next Normal อย่างสมดุล ครอบคลุม และยั่งยืน นอกจากนี้ ไทยได้กำหนดเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งไทยสนับสนุนให้เอเชียและยุโรปร่วมมือกัน ทั้งในการสนับสนุนการเงินสีเขียว และเทคโนโลยี รวมถึงการสนับสนุน Startups สีเขียว เพื่อการบรรลุเป้าหมายได้เร็วกว่าที่กำหนดและการฟื้นฟูที่สมดุลของทั้งสองภูมิภาค
ประการที่สอง การฟื้นตัวต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เอเชียและยุโรปควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลให้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา เอเชียและยุโรปมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกัน อาทิ การประชุมเชิงปฏิบัติการอาเซมเพื่อหารือเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเยาวชนเสมือนจริงผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และข้อริเริ่มของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนในการส่งเสริมการทำการค้าดิจิทัลอย่างครบวงจร ซึ่งจะช่วยให้การค้าและการลงทุนระหว่างสองภูมิภาคมีความสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ประการสุดท้าย การฟื้นตัวต้องเน้นความเชื่อมโยง วิกฤตโควิด-19 ตอกย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเอเชียกับยุโรป ซึ่งไทยได้เริ่มเปิดประเทศอย่างปลอดภัยแล้ว อย่างไรก็ดี เอเชียและยุโรปควรเร่งหารือเพื่อกำหนดมาตรฐานร่วมเกี่ยวกับใบรับรองการฉีดวัคซีนแบบดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางระหว่างกัน โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียินดีที่ที่ประชุมในวันนี้จะร่วมรับรองเอกสาร “เส้นทางสู่ความเชื่อมโยงอาเซม” ซึ่งจะปูทางไปสู่ความเชื่อมโยงระหว่างสองภูมิภาคที่แน่นแฟ้นและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง ในการสร้างอนาคตที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และไม่ทิ้งประเทศใดไว้ข้างหลัง