โฆษกรัฐบาล เผย นายกรัฐมนตรีกำชับ ฝ่ายความมั่นคง-มหาดไทย-แรงงาน คุมเข้มแรงงานต่างด้าวทะลักเข้าไทย เร่ง MOU แก้ปัญหาขาดแรงงานและการลักลอบเข้าเมือง เปิดลงทะเบียน 1 ธ.ค. นี้
วันนี้ (26 พ.ย.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงความเป็นห่วง คือ ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าว ผิดกฎหมาย ซึ่งยังคงได้รับรายงานการจับกุมแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองอย่างต่อเนื่อง จึงกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง เพิ่มความเข้มงวด สกัดกั้นขบวนการขนย้าย ค้าแรงงานต่างด้าวที่แอบลักลอบเข้าประเทศไทยตามแนวชายแดนและจุดเสี่ยงช่องทางธรรมชาติรอบด้านทุกช่องทาง ล่าสุด กองกำลังสุรสีห์หน่วยเฉพาะกิจลาดหญ้าร่วมกับชุดปฏิบัติการข่าวกองกำลังสุรสีห์หมวดป้องกันชายแดนที่ 1 กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 134 อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี จับกุมแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ที่ลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย จำนวน 47 คน กองกำลังบูรพา กรมทหารพรานที่ 12 กรมทหารพรานที่ 13 หน่วยเฉพาะกิจอรัญประเทศ หน่วยเฉพาะกิจตาพระยา จับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายชาวกัมพูชาได้ 35 คน ทั้งหมดต้องการไปทำงานในกรุงเทพฯ สมุทรสาคร นครปฐม ปราจีนบุรี และ ฉะเชิงเทรา
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยหนึ่งในสาเหตุหลัก คือ การขาดแคลนแรงงานในโรงงาน ก่อสร้าง ภาคอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงานดำเนินการตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี นำเข้าแรงงานตาม MOU แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา อย่างถูกกฎหภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อให้นายจ้างและสถานประกอบการในประเทศมีแรงงานในกิจการเพียงพอ ซึ่งจะเริ่มเปิดลงทะเบียนในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ ทั้งนี้ 8 ขั้นตอนนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามเอ็มโอยู ดังนี้
1. นายจ้างยื่นแบบคำร้องกับสำนักงานจัดหางานในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐาน
2. การจัดส่งคำร้องความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว โดยกรมการจัดหางาน/สจจ. สจก. 1-10 มีหนังสือแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวผ่านสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทยไปยังประเทศต้นทาง
3. ประเทศต้นทางดำเนินการรับสมัคร คัดเลือก ทำสัญญา และจัดทำบัญชีรายชื่อคนงานต่างด้าว (Name List) ส่งให้กรมการจัดหางานผ่านสถานเอกอัครราชทูตประเทศต้นทางประจำประเทศไทย และกรมการจัดหางานส่งให้นายจ้าง
4. นายจ้างที่ได้รับบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List) แล้วยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว
5. กกจ.มีหนังสือถึงสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ ประเทศต้นทางของคนต่างด้าวเพื่อพิจารณาออกวีซ่า (Non-Immigrant L-A) ให้แก่คนต่างด้าวตามบัญชีรายชื่อ และหนังสือแจ้งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่ออนุญาตให้คนต่างด้าวเดินทางเข้าประเทศผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองตามที่นายจ้างได้แจ้งไว้
6. เมื่อคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรต้องแสดงหนังสือยืนยันการอนุญาตให้เข้ามาทำงาน ใบรับรองแพทย์ที่แสดงว่าไม่เป็นโรคโควิด-19 โดยวิธี RT-PCR และ ATK (ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง) หลักฐานการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือใบรับรองแสดงประวัติการเคยติดเชื้อในช่วงไม่เกิน 3 เดือน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จะตรวจลงตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร เป็นระยะเวลา 2 ปี
7. คนต่างด้าวต้องเข้ารับตรวจสุขภาพ 6 โรคเป็นขั้นตอนแรก หากพบเป็นโรคต้องห้ามจะส่งกลับประเทศต้นทาง เพราะไม่สามารถอนุญาตให้ทำงานได้ตามกฎหมาย หากไม่พบเป็นโรคต้องห้ามจะเข้าสู่กระบวนการกักตัว และตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR
8. คนต่างด้าวรับการอบรมผ่านระบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ ณ สถานประกอบการ เมื่อผ่านการอบรมแล้ว คนต่างด้าวรับใบอนุญาตทำงาน โดยการอนุญาตให้ทำงานจะเริ่มจากวันที่คนต่างด้าวได้รับการตรวจลงตรา (วีซ่า) ให้เดินทางเข้ามาในประเทศ
นายธนกร กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงต่างประเทศ รวมถึงตัวแทนของผู้ประกอบการ/นายจ้าง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการให้ความร่วมมือหารือถึงความชัดเจนเงื่อนไขและมาตรการต่างๆ เพื่อให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานแบบถูกกฎหมายได้ พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้เจ้าของกิจการหรือนายจ้างช่วยกันเปิดประเทศ “แบบนิวนอร์มัล” ที่มีความปลอดภัยทั้งผู้ประกอบการและแรงงานด้วย