“สุทธิพงษ์” ปลัด มท.ตรวจเยี่ยมกรมการพัฒนาชุมชน มอบ 4 นโยบาย มุ่งขับเคลื่อนงาน “สร้างศรัทธาที่เดินได้” Change for Good ไปกับประชาชน
วันนี้ (23 พ.ย.) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการปฏิบัติราชการให้กับกรมการพัฒนาชุมชน โดยมี นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านพัฒนาชุมชนและส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายบรรจบ จันทรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย นายทรงกลด สว่างวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ช่วยราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย รองศาสตราจารย์วรวรรณ โรจนไพบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษากรมการพัฒนาชุมชน ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน พัฒนาการจังหวัด พัฒนาการอำเภอ 878 และศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชน 11 แห่ง โดยได้รับเมตตาจาก พระครูสมุห์วัชระ ภทฺทธมฺโม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า การมาตรวจเยี่ยมวันนี้ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่ ที่ต้องเรียนรู้ ศึกษางานของกรมฯ และรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งสิ่งที่เป็นแก่นของการทำงานและถือเป็นเรื่องใหญ่ของการพัฒนางาน คือ ต้องเข้าใจในงาน แม่นยำในงาน และชัดเจนในงาน พร้อมมอบแนวทางการขับเคลื่อนงาน 4 ข้อ คือ 1. ต้องเสริมสร้างพลังของข้าราชการรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้นควบคู่กับการถ่ายทอดประสบการณ์ทำงานจากข้าราชการรุ่นพี่ เพราะข้าราชการใหม่มีพลังในการทำงาน มีไฟแรง และข้าราชการเก่าที่มีประสบการณ์ยังมีไฟอยู่ ต้องดึงเอาไฟในตัวออกมาช่วยเหลือสังคมให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ต้อง challenge ศักยภาพ เพื่อพัฒนาองค์กรไปเสริมสร้างประโยชน์ และตอบสนองการแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ ต้องเป็นภาคีเครือข่ายให้พี่น้องประชาชนได้มีความสามารถพัฒนาตนเองและครอบครัวให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน เราต้องเข้าใจว่าแก่นแท้ของการทำงานอยู่ที่คน คนต้องเข้าใจงาน สร้างให้เกิดศรัทธาที่เดินได้ ทำงานร่วมกับ (work with) ประชาชน
2. ต้องมีภาคีเครือข่าย ทั้ง 7 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย ภาคราชการ วิชาการ ศาสนา เอกชน ประชาชน ประชาสังคม สื่อมวลชน ซึ่งมีรากฐานมาจากความรัก ความศรัทธาในตัวคนและงานของกรมการพัฒนาชุมชน นำไปสู่ “สามัคคีคือพลัง” เราต้องเป็นเหมือนรวงข้าวที่เหลืองอร่ามในท้องทุ่ง และโน้มตัวลงไปหาประชาชน เพื่อให้เกิดพลานุภาพในงาน 3. ปรับโครงสร้างให้เข้ากับงาน และบูรณาการกระบวนงานใหม่ ต้องจัดกลุ่มงานให้ได้ และดึงภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วม 4. ทุกสำนัก/กองและจังหวัด ต้องช่วยกันทำหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของการเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา นั่นคือ "การทำให้ผู้บังคับบัญชาทำในสิ่งที่ผู้ใต้บังคับบัญชาคิดริเริ่มอยากทำและต้องเป็นสิ่งที่ดี (Change for Good)” ได้แก่ หน้าที่หลักงานประจำที่มีอยู่ การคิดริเริ่มงานใหม่ๆ ที่อยากให้เกิดขึ้น โดยต้องโน้มน้าวใจผู้บังคับบัญชาให้คล้อยตามให้ได้ นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญกับภาคีเครือข่ายสื่อมวลชน ที่เป็นภาคีที่มีพลัง ซึ่งทุกวันนี้ประชาชนและทุกคนเป็นสื่อมวลชนอยู่แล้ว และต้องมอบเป้าหมายการทำงานให้ชัด เพราะความสำเร็จของการพัฒนาคน คือ ทำให้คนไปพัฒนาครอบครัว พัฒนาชุมชน พัฒนาสังคม และพัฒนาประเทศชาติ ให้เกิดความยั่งยืน ตามเป้าหมายของ SDGs ในล้นเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2505 มีภารกิจสำคัญ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท ด้วยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการพัฒนาตนเองของประชาชน โดยมีพัฒนากรเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า “พัฒนากรต้องทำงานกับประชาชน มิใช่ทำให้ประชาชน” เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน และเปลี่ยนสู่ความยั่งยืน (Change for Good) ผ่านกระบวนการสร้างคุณค่า ด้วยการเชื่อมโยงงานสำคัญกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เริ่มจากระดับบุคคล ครัวเรือน โดยการสร้างสัมมาชีพชุมชน เพื่อให้คนในชุมชนได้รับการพัฒนาอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีเป้าหมายให้ครัวเรือนมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ระดับกลุ่ม ขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เพื่อให้ครัวเรือนสัมมาชีพได้รับการพัฒนาเข้าสู่การลงทะเบียนเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ระดับเครือข่าย เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ดำเนินการภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ เพิ่มศักยภาพชุมชนในการสร้างธุรกิจชุมชน บูรณาการภาคีสนับสนุนชุมชน โดยขับเคลื่อนภารกิจสำคัญให้ก้าวไปสู่วิสัยทัศน์ “เศรษฐกิจฐานรากมั่นคงและชุมชนพึงตนเองได้ ภายในปี 2565” มีผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี ภายใต้ 4 ประเด็นการพัฒนา ได้แก่ 1. สร้างสรรค์ชุมชนพึ่งตนเองได้ มีเป้าหมาย ชุมชนมีศักยภาพในการบริหารจัดการและพัฒนาตนเองสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และมีความสุข 2. ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้ขยายตัวอย่างสมดุล มีเป้าหมาย เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งอย่างสมดุลและยั่งยืนด้วยนวัตกรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชน 3. เสริมสร้างทุนชุมชนให้มีธรรมาภิบาล มีเป้าหมาย ชุมชนสามารถจัดการทุนชุมชนเพื่อเป็นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และ 4. เสริมสร้างองค์กรให้มีขีดสมรรถนะสูง มีเป้าหมาย คือ องค์กรมีสมรรถนะสูงในการบริหารการพัฒนาชุมชน
ทั้งนี้ นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พวกเราทุกคนต้องช่วยกัน Change for Good เพื่อให้ประเทศชาติเต็มไปด้วยความสุข ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีเศรษฐกิจฐานรากที่มั่นคงให้จงได้ ภายในปี 2565 ตามวิสัยทัศน์ของกรมการพัฒนาชุมชน ต้องระลึกเสมอว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้พี่น้องประชาชนเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน สามารถที่จะดูแลชีวิต ครอบครัว ชุมชน สังคมได้ เรามีหน้าที่พัฒนาคน คนจะได้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อให้คนที่เราไปพัฒนาได้มั่นใจว่า ทุกสิ่งสามารถ Change for good ได้
“ความสำเร็จของงานอยู่ที่เราเป็นตัวตั้ง เพราะเราเป็นคนพัฒนาชุมชน เราจำเป็นต้องขวนขวาย วิ่งเข้าไปหาภาคีเครือข่ายมาเป็นแนวร่วม เป็นกำลัง เป็นผู้ที่แสดงออกซึ่งจิตอาสาในการที่จะช่วยกันในพัฒนาพี่น้องประชาชนให้มีความรู้ ความสามารถ ดึงเอาศักยภาพของพี่น้องประชาชนออกมาพัฒนาคุณภาพชีวิต และขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องทุกคน ผมจะเป็นภาคีเครือข่ายร่วมกับทุกท่านในการขับเคลื่อนงาน Change for Good ไปกับทุกคน และขอให้ทุกท่านได้รับสิ่งที่ดีงาม และมีความสุข”