สภาพัฒน์ เปิดรายงาน “เอดีบี” ดัชนีตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนรับมือภัยพิบัตินํ้า 2 ด้าน “สอบตก” คะแนนมีความเสี่ยงอยู่ที่ระดับ 2 จากคะแนนเต็ม 5 พบการจัดการภัยแล้ง ได้แค่ 2.4 คะแนน ส่วน บริหารนํ้าท่วม ได้ 1.2 คะแนน ชี้ตํ่ากว่าค่าเป้าหมาย ระดับ 3 ที่่รัฐบาลฝันรับมือได้ทุกด้านในปี 65 แถม “ภัยแล้ง” ในยุคลุงป้อม ทวีความรุนแรง ประเทศเสียหายสูงถึง 797.7 ล้าน
วันนี้ (18 พ.ย. 2564) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ได้รายงานประเด็นที่รัฐบาลควรเร่งรัดดำเนินการเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2566-2570)
โดยเฉพาะ ประเด็นที่ 19 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ว่าด้วยการบริหารจัดการนํ้าทั้งระบบ แผนย่อยที่ 190102 “การพัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มทั้งระบบ เพื่อความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ โดยเทียบเคียงจากการรับมือกับภัยพิบัติด้านนํ้า
ซึ่งข้อมูลจากผลการประเมินในรายงาน Asian Water Development Outlook ปี 2020 ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank) พบว่า ประเทศไทยมีดัชนีการรับมือกับภัยพิบัติด้านนํ้าอยู่ที่ระดับ 2 จากคะแนนเต็ม 5 ซึ่งตํ่ากว่าค่าเป้าหมายแผนแม่บทย่อยในปี 2565 ที่กำหนดระดับการรับมือกับภัยพิบัติต้านนํ้าเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 3
“ผลการประเมินตัวชี้วัดพิจารณาจากความสามารถในการรับมือภัยพิบัติด้านนํ้า ประกอบด้วย (1) ด้านภัยแล้ง 2.4 คะแนน (2) ด้านนํ้าท่วม 1.2 คะแนน และ (3) ด้านคลื่นพายุซัดฝั่ง 4.4 คะแนน”
ผลการประเมินสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความสามารถในการรับมือกับนํ้าท่วมอยู่ในระดับตํ่าที่สุด และยังต้องเผชิญกับประเด็นท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ปริมาณ และการกระจายตัวของฝนมีความแปรปรวน คาดการณ์ได้ยาก
จากสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยได้รับผลกระทบจากอุทกภัย มี 31 จังหวัด 190 อำเภอ 956 ตำบล 6,335 หมู่บ้าน 1 เขตเทศบาล อีกทั้งประชาชนได้รับ ผลกระทบจำนวน 227,470 ครัวเรือน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2564)
ขณะเดียวกัน ประเทศไทย ยังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2562 มูลค่าความเสียหาย จากภัยแล้งสูงถึง 797.7 ล้านบาท ผู้ได้รับผลกระทบจำนวน 18.7 ล้านคน ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน รวมถึงการประกอบอาชีพของประชาชน
โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากอุทกภัยและภัยแล้ง จากสถานการณ์ดังกล่าว ประเทศไทยจึงต้องให้ความสำคัญ และเร่งยกระดับความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติต้านนํ้าของประเทศอย่างเป็นระบบ
ซึ่งได้มีการระบุการให้ความสำคัญกับอุทกภัยและภัยแล้ง ในยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม แผนแม่บทฯ ประเด็น (19) การบริหารจัดการนํ้าทั้งระบบ และ ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 เป้าหมายการพัฒนาหมุดหมายที่ 11
“ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เกิดการรับมือกับภัยพิบัติและความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทุกรูปแบบ ระบบการเตือนภัย การเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติ และการให้ความช่วยเหลือ ทั้งในระหว่างและหลังเกิดภัยพิบัติ เพื่อนำไปสู่เสถียรภาพและความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศต่อไป”
อย่างไรก็ตาม พบว่า จากข้อมูลจากผลการประเมินในรายงาน Asian Water Development Outlook ฉบับปี 2016 พบว่า ประเทศไทยมีดัชนีการรับมือกับภัยพิบัติด้านน้ำอยู่ที่ระดับ 2 จากคะแนนเต็ม 5 ซึ่งมีค่าสถานะการบรรลุเป้าหมายอยู่ที่ระดับต่ำกว่าค่าเป้าหมายระดับเสี่ยง