“การเคหะแห่งชาติ” ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดโครงการ “ครอบครัวไทย รู้ รัก สามัคคี” อบรมผู้นำชุมชน สร้าง “ครอบครัวต้นแบบ” สู่ชุมชนเข้มแข็งนำร่อง “เคหะชุมชนร่มเกล้า-บ้านเอื้ออาทรร่มเกล้า”
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ มอบหมายให้ นายเทพฤทธิ์ ฤทธิณรงค์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เป็นประธานเปิดกิจกรรมโครงการ “ครอบครัวไทย รู้ รัก สามัคคี” จัดโดย มูลนิธิสหพันธ์ครอบครัวเพื่อความสามัคคีและสันติภาพโลก (ประเทศไทย) ร่วมกับ มูลนิธิสหพันธ์สันติภาพสากล (ประเทศไทย) และการเคหะแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมี นางสาวมารีญา ฤกษ์ดี คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้นำชุมชนและตัวแทนนิติบุคคลจากโครงการเคหะชุมชนร่มเกล้า และโครงการบ้านเอื้ออาทรร่มเกล้า เข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องประชุมสำนักงานการเคหะแห่งชาติ สาขาร่มเกล้า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564
สำหรับการอบรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก อาจารย์ภาษิต ศิริมาลัย รองประธานมูลนิธิสหพันธ์ครอบครัวเพื่อความสามัคคีและสันติภาพโลก (ประเทศไทย) บรรยายหัวข้อ “ครอบครัวคือโรงเรียนแห่งความรักและสันติภาพ” เพื่อส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว และเสริมสร้างคุณค่าของความรักและการแต่งงาน อีกทั้งป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคม ที่มีสาเหตุมาจากความอ่อนแอของสถาบันครอบครัว เช่น ความขัดแย้ง ความรุนแรง การหย่าร้าง ยาเสพติด เป็นต้น
นายเทพฤทธิ์ กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าว เพื่อรณรงค์และเสริมสร้างสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง รวมทั้งสร้างเครือข่าย ครอบครัวต้นแบบ เพื่อส่งเสริมให้เกิดแนวร่วมของเครือข่ายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในครอบครัวและชุมชน โดยเน้นกิจกรรมที่นำไปสู่กระบวนการยุติปัญหาความรุนแรงในครอบครัว โดยใช้พื้นฐานของความรักและการเพิ่มพูนความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวเป็นแนวทางหลัก จากสภาวะสังคมในปัจจุบันที่สถาบันครอบครัวไทยกำลังอ่อนแอลงอย่างมาก จากสถิติการหย่าร้างที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการหย่าร้างและความอ่อนแอของสถาบันครอบครัวมากที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปเอเชียและในโลก
สำหรับรูปแบบการดำเนินโครงการ จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างการเคหะแห่งชาติ และมูลนิธิสหพันธ์ครอบครัวเพื่อความสามัคคีและสันติภาพโลก (ประเทศไทย) โดยเลือกพื้นที่ชุมชนนำร่อง คือ เคหะชุมชนร่มเกล้า และโครงการบ้านเอื้ออาทรร่มเกล้า การทำงานจะมีการติดตามให้การอบรมต่อเนื่องในพื้นที่ โดยเลือกผู้นำและก่อตั้งกลุ่มเครือข่ายครอบครัวต้นแบบ พร้อมจัดอบรมให้กับผู้นำและตัวแทนชุมชนอย่างต่อเนื่อง สำหรับแผนงานในอนาคตจะมีการขยายผลโครงการฯ ไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อสร้าง “ครอบครัวต้นแบบ” สู่การสร้าง “ชุมชนที่เข้มแข็ง” ให้เกิดขึ้นในโครงการอื่นๆ ของการเคหะแห่งชาติต่อไป