xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” ตรวจเยี่ยมโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา งบ 4.6 พันล้าน ย้ำสร้างแน่ปี 66 เปิดปี 69

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม  ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและรับฟังการบรรยายสรุป “โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาของกรมทางหลวงชนบท (ทช.)
“ศักดิ์สยาม” ตรวจเยี่ยมและรับฟังการบรรยายสรุปโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ของกรมทางหลวงชนบท พร้อมรับฟังความต้องการของประชาชนในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง

วันนี้ (13 พ.ย.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดร.นาที รัชกิจประการ ประธานที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ พร้อมด้วย คณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและรับฟังการบรรยายสรุป “โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาของกรมทางหลวงชนบท (ทช.)” พร้อมทั้งพบปะกับประชาชนเพื่อรับฟังปัญหาและความต้องการในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางสัญจรในพื้นที่ รวมทั้งภาคขนส่งเพื่อสนับสนุนในด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม การบริการ และการท่องเที่ยวของจังหวัด

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า กรมทางหลวงชนบทได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชน รวมถึงการยกระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชน กรมทางหลวงชนบทจึงได้ดำเนิน “โครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์, เขาสนชัย จังหวัดสงขลา, พัทลุง” เพื่อให้สอดรับกับนโยบาย โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกจากถนน พท. 4004 (กม.ที่ 3+300) บ้านแหลมจองถนน ต.จองถนน อ.เขาสนชัย จ.พัทลุง วางแนวข้ามทะเลสาบสงขลาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และมีจุดสิ้นสุดที่ถนน อบจ.สงขลา บ้านแหลมยาง ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา รวมระยะทางทั้งสิ้น 7 กม. โดยสะพานมีขนาด 2 ช่องจราจร (สามารถขยายเป็น 4 ช่องจราจรได้ในอนาคต) และมีรูปแบบสะพานที่เหมาะสม คือ สะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ (Box Segmental Bridge) ซึ่งสถานะปัจจุบันได้ออกแบบแล้วเสร็จและผ่านการพิจารณาเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ กรมทางหลวงชนบทจะดำเนินการขอรับการสนับสนุนงบประมาณค่าก่อสร้างต่อไป ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี โดยมีมูลค่าโครงการ 4,635 ล้านบาท

นายอภิรัฐ กล่าวต่อว่า โครงการนี้สามารถร่นระยะการเดินทางได้มากกว่า 80 กิโลเมตร หรือระยะเวลาในการเดินทางได้ประมาณ 2 ชั่วโมง ซึ่งจะรองรับถนนเพื่อการท่องเที่ยวโดยรอบทะเลสาบสงขลาพร้อมทั้งสนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ส่งเสริมการขนส่งโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมโยงทะเลอันดามัน-อ่าวไทย ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่วยลดอุบัติเหตุให้กับผู้ใช้ทางอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ อันจะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ  เปิดเผยหลังลงพื้นที่ตรวจแนวเส้นทางโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ว่า รัฐบาลนี้จะผลักดันให้เริ่มก่อสร้างโครงการในปี 66 แน่นอน เนื่องจากโครงการผ่านการพิจารณาเงินกู้แล้ว มีความพร้อมทุกด้าน ทช.ได้ออกแบบแล้วเสร็จและผ่านการพิจารณาเห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อยแล้ว ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เพื่อเปิดบริการในปี 69  เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะทำให้การเดินทางเชื่อมโยงระหว่างถนนสายหลักโดยปกติต้องใช้ถนนเลียบทะเลสาบสงขลาระยะทาง 80 กม. ใช้เวลาประมาณ 2 ชม. เหลือ 7 กม. ใช้เวลา 15 นาที ทำให้การเดินทางระหว่าง จ.พัทลุงและสงขลา สะดวก ปลอดภัย และส่งเสริมการท่องเที่ยวรอบทะเลสาบสงขลา สนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามัน-อ่าวไทย 

 นอกจากนี้ได้เร่งพัฒนาโครงข่ายถนนในพื้นที่ จ.พัทลุง รวม 44 โครงการ โดยกรมทางหลวง (ทล.) 8 โครงการ อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 โครงการ ระยะทางรวม 47 กม. ได้แก่ ทล.4 ตอนบ้านห้วยทราย-บ้านพรุพ้อ 15 กม., ทล.41 ตอนไม้เสียบ-พัทลุง 32 กม. และโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ บริเวณจุดตัดทางหลวง 4049 สายบ้านห้วยทราย-บ้านปากพะยูน ทั้ง 3 โครงการจะแล้วเสร็จและเปิดบริการปี 66 รวมไปถึงโครงข่ายทางหลวงที่จะขอรับการจัดสรรงบประมาณในปี 66 จำนวน 5 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ บริเวณแยกโพธิ์ทอง ทางแยกต่างระดับจุดตัด ทล.4 กับ ทล.4048 บริเวณแยกวังปีบ สะพานข้ามทางรถไฟจุดตัด ทล.4187 สายสี่แยกโพธิ์ทอง-ทะเลน้อย สะพานข้ามทางรถไฟจุดตัด ทล.4081 สายบ้านนางพรม-บ้านจงแก และ สะพานข้ามทางรถไฟจุดตัด ทล.4181 สายบ้านโคกทรายบ้านปากพะยูน 

 ส่วน ทช. ได้รับจัดสรรงบประมาณในปี 65 เพื่อก่อสร้างทางหลวงชนบท36 โครงการ วงเงินงบประมาณ 564.42 ล้านบาท เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่วยลดอุบัติเหตุและก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน












กำลังโหลดความคิดเห็น