xs
xsm
sm
md
lg

“อานนท์” นำอดีตหมู่บ้านเสื้อแดงสร้าง “โคก หนอง นา โมเดล” สู้ภัยโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“อานนท์ แสนน่าน” นำอดีตหมู่บ้านเสื้อแดงสร้าง “โคก หนอง นา โมเดล” ตามแนวพระราชดําริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จาก ร.9 ถึง ร.10 สู้ภัยโควิด-19 ในน้ำมีปลาในนามีข้าว

วันนี้ (11 พฤศจิกายน 2564) นายอานนท์ แสนน่าน ผู้ริเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง อดีตประธานหมู่บ้านเสื้อแดงแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่พวกตนชาวอดีตหมู่บ้านเสื้อแดง ได้ร่วมงานกับทาง ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ ได้แนะนำให้พวกเราทำการพลิกผืนนาสู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ตามแนวทางพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จาก ร.9 ถึง ร.10 จนทำให้ทุกวันนี้ “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” เกษตรกรมีรายได้สู้ภัยโควิด-19 มาตลอด แม้ว่าประเทศไทยและทั่วโลกจะเกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจแต่เกษตรกรก็สามารถอยู่ได้เพราะเรามีข้าว มีอาหาร และผลไม้อยู่ในโคกหนองนานำมาประกอบเป็นอาหารและนำไปจำหน่าย

“...มีวันนี้เพราะพ่อสร้างเอาไว้ ให้พสกนิกรชาวไทยได้ดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง และสืบสานศาสตร์พระราชา “โคก หนอง นา โมเดล” คืนความชุ่มชื้น ชื่นฉ่ำ ให้กับชีวิตเกษตรกรไทย “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว”

นายอานนท์ กล่าวอีกว่า เราได้สร้าง “โคก หนอง นา โมเดล” ภายใต้ “เครือข่ายหมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นไทย” ต.หนองนาคำ อ.เมือง จ.อุดรธานี เป็นต้นแบบแล้วกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ตามแนวความคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จากพระราชดำริของ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จาก ร.9 ถึง ร.10 สู่ผองไทยทั่วแหล่งหล้า สืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา” และตามแนวทางนโยบายของ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ภายใต้การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะใช้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 พลิกวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้ใช้แนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาบูรณาการเพื่อให้ประชาชนชาวเกษตรกร ได้ใช้เวลาว่างในช่วงนี้ทำการเกษตร ตามแนวทาง “โคก หนอง นา โมเดล” โดยใช้วิธีการต่างๆ อาทิ ปลูกพืชผักสวนครัว ได้แก่ กะเพรา ตะไคร้ มะเขือ พริก มะละกอ ฯลฯ การเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ เช่น โคนม โคเนื้อ และ ปลาน้ำจืด และทำการเกษตรแบบผสมผสาน การปลูกข้าว พร้อมปลูกต้นมะพร้าวเพื่อสร้างแบรนด์ให้เกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น