xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.ชี้ก๊วน “อานนท์-รุ้ง-ไมค์” ล้มล้างการปกครองระบอบ ปชต.อันมีกษัตริย์เป็นประมุข สั่งยุติการกระทำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาล รธน.วินิจฉัย “อานนท์-รุ้ง-ไมค์” และเครือข่าย ใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองในระบอบ ปชต.อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สั่งเลิกการกระทำ

วันนี้ (10พ.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของนายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ที่ชุมนุมปราศรัยวันที่10 ส.ค.63 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ซึ่งมีการเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งเครือข่าย เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งจึงมีคำสั่งให้เลิกการกระทำ

คดีนี้สืบเนื่องจาก นายณฐพร โตประยูร (ผู้ร้อง) ยื่นคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทําของนายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นางสาวสิริพัชระ จึงชีรพานิช นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนางสาวอาทิตยา พรพรม รวม 8 คน ในการชุมนุมปราศรัยเพื่อเสนอข้อเรียกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญรับคําร้องเฉพาะการกระทําในการชุมนุมปราศรัยของนายอานนท์ นำภา (ผู้ถูกร้องที่ 1) นายภาณุพงศ์ จาดนอก (ผู้ถูกร้องที่ 2) และนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (ผู้ถูกร้องที่ 3) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยื่นคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ศาลไต่สวนโดยมีหนังสือเรียกเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ สรุปสาระสำคัญได้ว่า ประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า การกระทําของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการ ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 มีเจตนารมณ์ปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศ ให้เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมุ่งหมายให้ปวงชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้องคุ้มครองพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญจากการกระทําของบุคคลหรือกลุ่มคนที่ใช้สิทธิหรือเสรีภาพในประการที่อาจนําไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยยื่นคําร้องต่ออัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หากอัยการสูงสุดมีค้าสั่งไม่รับดําเนินการหรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคําร้อง รัฐธรรมนูญก็รับรองสิทธิของผู้ร้องให้ยื่นคําร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย สั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวได้

ข้อเท็จจริงตามคําร้อง คําชี้แจง พยานหลักฐานต่าง ๆ รวมทั้งบันทึกเสียงการปราศรัย ของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฟังเป็นยุติว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อภิปรายในที่สาธารณะหลายครั้งหลายสถานที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2563 เรียกร้องให้ต้าเนินการแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อภิปรายเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยข้อเรียกร้องรวม 10 ประการ

พิจารณาแล้วเห็นว่า พระมหากษัตริย์กับซาติไทยดํารงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกันนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน และจะต้องดํารงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคตเพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้ ปวงชนชาวไทยจึงถวายความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิตมิได้ การกระทําของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการเซาะกร่อน บ่อนทําลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การออกมาเรียกร้องโจมตี ในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคําหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาขาชนอื่นที่เห็นต่างด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้บุคคลอื่นกระทําตาม ยิ่งกว่านั้น การกระทําของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย แม้การปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จะผ่านไปแล้ว ภายหลังจากที่ผู้ร้องยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ยังปรากฏว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยังคงร่วมชุมนุมกับกลุ่มบุคคลกลุ่มต่าง ๆ โดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม วิธีการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลผู้ปราศรัย ใช้กลยุทธ์เป็นแบบไม่มีแกนนําที่ชัดเจน แต่มีรูปแบบการกระทําอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน การเคลื่อนไหวของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 3 และกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง มีลักษณะเป็นขบวนการเดียวกันที่มีเจตนาเดียวกันตั้งแต่แรก ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีพฤติการณ์กระทําซ้ำและกระทําต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการกระทํากันเป็นขบวนการ ซึ่งมีลักษณะของการปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ แต่มีลักษณะของการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม ทําให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อันเป็นการทําลายหลักความเสมอภาคและภราดรภาพ นําไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยในที่สุด ทั้งเป็นการกระทําที่มีเจตนาเพื่อทําลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลาย ไม่ว่าจะโดยการพูด การเขียน หรือการกระทําต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทําลาย ด้อยคุณค่า หรือทําให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อีกด้วย

แม้เหตุการณ์ตามคําร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทําการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนําไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโตยเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า การกระทําของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และมีมติเป็นเอกฉันท์ สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทําการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง

ชมคลิปถ่ายทอดการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ >>https://www.youtube.com/watch?v=txE5EpAEb5c&t=2957s


ผู้สื่อข่าวรายงา่นว่า ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัย น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง นักศึกษาคณะสังคมวิทยาฯ ม.ธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ถูกร้อง ได้แถลงต่อศาลว่าจะไม่ขอฟังการอ่านคำวินิจฉัย แล้วเดินออกมานอกศาล แสดงการไม่ยอมรับต่อศาล จากนั้นได้ออกมานั่งฟังกับมวลชนที่รออยู่ด้านนอกผ่านจอโทรทัศน์ เมื่อจบคำแถลงของศาล น.ส.ปนัสยาได้อ่านแถลงของฝ่ายตนเอง เมื่ออ่านจบก็ได้นำกระดาษเอ 4 ที่มีข้อความเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรา 112 มาโปรยเต็มพื้นหน้าศาล


รายละเอียดคำวินิจฉัยฉบับเต็ม คดีนายณฐพร โตประยูร (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 (เรื่องพิจารณาที่ 19/2563)

นายณฐพร โตประยูร (ผู้ร้อง) ยื่นคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทําของนายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นางสาวจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ นางสาวสิริพัชระ จึงชีรพานิช นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนางสาวอาทิตยา พรพรม รวม 8 คน ในการชุมนุมปราศรัยเพื่อเสนอข้อเรียกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญรับคําร้องเฉพาะการกระทําในการชุมนุมปราศรัยของนายอานนท์ นำภา (ผู้ถูกร้องที่ 1) นายภาณุพงศ์ จาดนอก (ผู้ถูกร้องที่ 2) และนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (ผู้ถูกร้องที่ 2) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ไว้พิจารณาวินิจฉัย และให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยื่นคําชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ศาลไต่สวนโดยมีหนังสือเรียกเอกสารหลักฐานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ผลการพิจารณา

ศาลได้พิจารณาคำร้องคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเอกสารชี้แจงจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำชี้แจงพยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งบันทึกเสียงคำปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฟังเป็นที่ยุติว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ปราศรัยในที่สาธารณะหลายครั้งหลายหลายสถานที่ต่อเนื่องกัน ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม 2563 เรียกร้องให้ดำเนินการแก้ไขเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิตเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ผู้ถูกร้องทั้งอภิปรายเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยข้อเรียกร้อง 10 ข้อ

กรณีมีข้อโต้แย้งที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่าคำร้องคลุมเครือไม่ชัดเจน ครบองค์ประกอบตามมาตรา 49 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำร้องเป็นการอ้างถึงการที่ผู้ถูกร้องปราศรัยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ในเวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต มีเนื้อหาบิดเบือน จาบจ้วง ล้อเลียน หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำที่มีเจตนาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยที่เอกสารต่างๆ รวมทั้งถอดคลิปเสียงที่แสดงถึงการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 กับพวก ประกอบมาท้ายคำร้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำร้องเช่นนี้ คำร้องจึงมีความชัดเจนและเพียงพอที่จะทำให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เข้าใจสภาพของการกระทำที่เป็นข้อกล่าวหา สามารถต่อสู้คดีได้ ข้อโต้แย้งนี้ของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จึงฟังไม่ขึ้น

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

พิจารณาเห็นว่า หลักการตามรัฐธรรมนูญ วางรากฐานระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คุณค่าทางรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นแก่นของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประกอบด้วยคุณค่าสำคัญได้แก่ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญหมวด 3 ทั้งนี้ การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมีการบัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 มีการบัญญัติเรื่อยมาในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยนอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่ไม่ได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการนั้นได้ และได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดหลักประกันเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งสามารถแยกได้ออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะ และส่วนที่รัฐธรรมนูญหรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นไม่ได้มีการบัญญัติห้ามไว้ ปวงชนชาวไทยย่อมมีสิทธิและเสรีภาพดังกล่าว ทั้งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงให้การคุ้มครองการใช้สิทธิหรือเสรีภาพทุกกรณี ทั้งที่บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะและที่ไม่ได้มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นห้ามหรือจำกัดไว้ โดยมีเงื่อนไขว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองนั้น ต้องไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

เมื่อบุคคลมีสิทธิและเสรีภาพย่อมมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามมาด้วย หน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองปรากฏชัดในรัฐธรรมนูญหมวด 4 หน้าที่ของปวงชนชาวไทย มาตรา 50 อนุมาตรา (1) อนุมาตรา (3) และอนุมาตรา (6) ที่กำหนดให้บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใดที่จะก่อให้เกิดการแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม

มาตรา 49 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ วรรค 2 บัญญัติว่าผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ วรรคสาม บัญญัติว่าในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ และวรรคสี่บัญญัติว่า การดำเนินการตามมาตรานี้ ไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการตามวรรคหนึ่ง

รัฐธรรมนูญมาตรา 49 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศให้เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งกำหนดให้ผู้ที่ทราบว่ามีการกระทำอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุด และกรณีที่อัยการสูงสุดไม่รับดำเนินการตามคำร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้ยื่นคำร้องขอ ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเองได้ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้การดำเนินการตามมาตราดังกล่าวไม่กระทบต่อการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 49 มุ่งหมายให้ปวงชนชาวไทยทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้องคุ้มครองและพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการทำหน้าที่ตรวจสอบและวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

โดยหลักการตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2495 มาตรา 35 และบัญญัติในทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ เป็นการวางหลักการเพื่อปกป้องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากภัยคุกคามอันเกิดจากการกระทำซึ่งเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในลักษณะมุ่งหมายให้กลับกลาย และคุณค่าของรัฐธรรมนูญที่รองรับการดำรงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีให้ล้มเลิกหรือสูญเสียไป

หลักการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง ปรากฏเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 63 และบัญญัติในทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 68 เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดว่าเมื่อมีผู้ทราบถึงการกระทำอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขบุคคลผู้นั้นย่อมมีสิทธิ์ร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติเพิ่มเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นว่าถ้าอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับคำร้องตามที่ร้องขอภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอ ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญเองได้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการรับรองสิทธิของพลเมืองในการปกป้องรัฐธรรมนูญจากการกระทำของบุคคล หรือกลุ่มบุุคคลที่ใช้สิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในประการที่อาจนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นการใช้สิทธิ์ปกป้องรัฐธรรมนูญถือเป็นกลไกหนึ่งของระบบยุติธรรมทางรัฐธรรมนูญโดยบุคคลที่ใช้สิทธิในการปกป้องรัฐธรรมนูญจะต้องยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำร้องก่อนเสนอเรื่องร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว เมื่ออัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอหรือไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับการร้องขอรัฐธรรมนูญก็รับรองสิทธิของผู้ร้องในการยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เอง การรับรองสิทธิของผู้ร้องในกรณีดังกล่าวเป็นการสร้างหลักประกันการธำรงไว้ซึ่งหลักการอันเป็นสาระสำคัญแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อใดที่ปรากฏการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำในลักษณะดังกล่าวย่อมถูกกล่าวหาเป็นคดีในศาลรัฐธรรมนูญได้

ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา เอกสารประกอบคำร้องและพยานหลักฐานต่างๆ ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เลขาธิการสภาความมั่นคง ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่งมาให้ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 จัดเวทีชุมนุมปราศรัย เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต

การปราศรัยของ ผู้ถูกร้องที่ 1 กล่าวปราศรัยถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า “ที่เรามาชุมนุมกันในวันนี้ เพื่อยืนยันว่านอกจากข้อเสนอ 3 ข้อที่เราพูดกันอยู่ทุกเวที ความจริงมีข้อเสนอระหว่างบรรทัดที่เป็นข้อเสนอสำคัญที่สุด คือการแก้ปัญหาการขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และผมขอยืนยันอีกครั้งว่านี่ไม่ใช่ม็อบล้มเจ้า ไม่ใช่ม็อบจาบจ้วง แต่เป็นม็อบที่พูดความจริงเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมือง ประเด็นสำคัญที่ผมจะพูดวันนี้คือข้อเรียกร้องระหว่างบรรทัดของพวกเรา ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั่นหมายถึงกษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมืองและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญพระราชกรณียกิจอันใดที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ต่อไปนี้ต้องถูกตั้งคำถามดังๆ ต่อสาธารณะ เราอยากเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์ปรับตัวเข้าหาประชาชน ไม่ใช่ให้เราปรับตัวเข้าหาสถาบันพระมหากษัตริย์ การอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเป็นสาระสำคัญของการปกครองที่พวกเรามีอยู่ แต่ปัญหามันเกิดขึ้นเมื่อสถาบันพระมหากษัตริย์พยายามจะขยายพระราชอำนาจผ่านการรัฐประหาร ปี 2557 พระมหากษัตริย์ ถ้ายังเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องไม่เซ็นรับรองการรัฐประหาร หากการรัฐประหารเกิดขึ้นพระมหากษัตริย์ต้องอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น"

ผู้ถูกร้องที่ 2 กล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า “นับแต่คณะราษฎ รนำโดยท่านปรีดีพนมยงค์ และท่านพระยาพหลพลพยุหเสนาได้มีการปฏิวัติประเทศสยามจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยและให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบันผมคิดว่า การใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังใช้ยาวมาจนถึงรัชกาลปัจจุบันเพราะกษัตริย์อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อำนาจ อำนาจตุลาการ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ ถามว่าทำไมต้องพูดแบบนี้ ท่านเคยรู้หรือไม่ครับว่าหมวดที่ 2 ของรัฐธรรมนูญมาตรา 6 วรรคสอง บอกไว้ว่าผู้ใดไม่สามารถฟ้องร้องกษัตริย์ได้ เฉกเช่นนี้แล้วแสดงว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนืออำนาจอธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของ เจตนาการพูดของผมในครั้งนี้คือต้องการให้พระมหากษัตริย์อยู่ในที่ที่เหมาะสม และสามารถอยู่ร่วมกับประชาชนคนไทยได้ และที่บอกว่าอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยคือการอยู่เหนืออำนาจของประชาชนโดยที่ประชาชนไม่สามารถแตะต้องได้ เพราะถ้าใครแต่ต้องคนนั้นต้องโดนมาตรา 112”

และผู้ถูกร้องที่ 3 อ่านประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมฉบับที่ 1 มีสาระสำคัญสรุปว่า “นับแต่คณะราษฎรก่อการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองโดยหวังว่าประเทศจะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อยู่เหนือระบอบการเมืองอย่างแท้จริง แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อพระมหากษัตริย์ยังคงทรงอำนาจแทรกแซงเหนือการเมือง เมื่อเกิดการรัฐประหารกษัตริย์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งหัวหน้าคณะรัฐประหาร ทรงโยกย้ายกำลังพล รวมทั้งถ่ายโอนงบประมาณแผ่นดินให้เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ทรงใช้พระราชอำนาจนอกกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการประชามติ และให้สามารถเสด็จไปประทับนอกราชอาณาจักรได้โดยไม่ต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รัฐบาลเผด็จการยอมสยบอยู่ภายใต้มือของพระมหากษัตริย์ด้วยอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขา เห็นได้ว่าพวกเขาเหล่านี้สมประโยชน์กัน เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่ากษัตริย์ประเทศไทยนี้ไม่ได้ทรงอยู่เหนือการเมืองหากแต่เป็นรากเหง้าของปัญหาการเมืองตลอดมา นอกจากจะทรงละเลยหน้าที่การเป็นประมุขยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนแล้ว ยังเสด็จไปเสวยสุข ประทับอยู่ต่างแดน โดยใช้เงินภาษีของราษฎร ทั้งที่ราษฎรประสบความยากลำบาก อีกทั้งยังมีสัมพันธ์อันแนบแน่นกับกลุ่มกบฏผู้ก่อการรัฐประหารที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจึงเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวน 10 ข้อ”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีบทลักษณะการห้ามใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 63 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 68 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 49 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18 - ที่ 22/2555 คําวินิจฉัยศาลรัฐนูญที่ 3/2562 ได้วางหลักคำว่าล้มล้างว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญที่สุดวิสัย ที่จะแก้ไขให้กลับคืนได้ นอกจากนั้นเป็นการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญให้สูญสลาย หมดสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่หรือมีอยู่อีกต่อไป การใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมืองตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ และให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ห้ามผู้ใดล่วงละเมิด หมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพ สักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วน และความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะพอควร โดยมีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด

พระมหากษัตริย์กับชาติไทยดำรงอยู่คู่กัน เป็นเนื้อเดียวกันนับแต่อดีตถึงปัจจุบันและจะดำรงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคต แม้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว ปวงชนชาวไทยยังเห็นพ้องร่วมกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นสถาบันหลักคู่ชาติไทย และถวายความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทั้งนี้ เพื่อธำรงความเป็นชาติไทยไว้ ดังปรากฏในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยาม ชั่วคราวพุทธศักราช 2475 โดยมาตรา 1 บัญญัติว่าอำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย มาตรา 2 บัญญัติว่า เมื่อมีบุคคลและคณะบุคคลดังจะกล่าวต่อไปนี้เป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎร ดังที่จะกล่าวต่อไปในรัฐธรรมนูญ คือ 1. กษัตริย์ 2. สภาผู้แทนราษฎร 3. คณะกรรมการราษฎร 4. ศาล มาตรา 3 บัญญัติว่า กษัตริย์เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ พระราชบัญญัติก็ดี คำวินิจฉัยของศาลก็ดี การอื่นๆ ซึ่งจะมีกฎหมายบัญญัติเป็นการเฉพาะก็ดี จะต้องกระทำในนามกษัตริย์ ต่อมาเมื่อมีการตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามฉบับดังกล่าว บททั่วไป มาตรา 2 บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยย่อมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนี้ หมวด 1 พระมหากษัตริย์ หมวด 3 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ มาตรา 5 บัญญัติพระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม มาตรา 6 บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้อํานาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 7 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี มาตรา 8 บัญญัติว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้อํานาจตุลาการทางศาลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย

จากบทบัญญัติในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยามชั่วคราวพุทธศักราช 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามดังกล่าว เห็นได้ว่าประวัติศาสตร์การปกครองของไทยนั้นอำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอดนับแต่ยุคสุโขทัย อยุธยา ตลอดจนรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นประมุขของไทยมีพระราชภารกิจที่สำคัญยิ่ง เพื่อรักษาความอยู่รอดของบ้านเมืองและประชาชน โดยจะต้องดำรงตำแหน่งจอมทัพไทยเพื่อนำกองทัพต่อสู้ปกป้องและขยายอาณาจักรตลอดเวลา ในยุคก่อนที่ผ่านมา ประกอบกับพระมหากษัตริย์ไทยทรงถือหลักการปกครองโดยยึดหลักธรรมของพุทธศาสนา และยึดถือทศพิธราชธรรมเป็นหลักในการปกครองประเทศ พระมหากษัตริย์ของไทยจึงเป็นที่เคารพและศรัทธา เป็นศูนย์รวมจิตใจความเป็นหนึ่งเดียวกันของปวงชนชาวไทยมาโดยตลอดเป็นเวลามาหลายร้อยปี ดังนั้นแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทยเมื่อปี พ.ศ.2475 คณะราษฎรผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงและประชาชนชาวไทยจึงเห็นพ้องกันอัญเชิญสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อเป็นทรงสถาบันหลักจะต้องคงอยู่กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าว โดยเรียกรูปแบบการปกครองนี้ว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และราชอาณาจักรไทยได้คงไว้ซึ่งการปกครองระบอบนี้ต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำนองเดียวกับประเทศต่างๆ ที่มีความเป็นมาของชาติและเอกราชแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันประการหนึ่งคือเอกรัฐ หรือสัญลักษณ์ของชาติ รวมถึงทรัพย์สมบัติของชาติจะมีกฎหมายห้ามกระทำการอันเป็นมลทินที่ทำให้เสื่อมสภาพ เสียหายหรือชำรุด

ข้อเรียกร้องที่ขอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นประมุขของรัฐที่ผู้ใดจะกล่าวหาหรือละเมิดมิได้นั้น จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง

 การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิถีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เห็นต่างได้ด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้คนอื่นทำตาม

ยิ่งกว่านั้นการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีการดำเนินงานอย่างเป็นขบวนการเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมาย แม้การปราศรัยของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ เวทีปราศรัยธรรมศาสตร์จะไม่ทน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตจะผ่านไปแล้ว ภายหลังจากที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ยังปรากฏว่าผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยังคงร่วมชุมนุมกับกลุ่มต่างๆ โดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม วิธีการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุคคลผู้ปราศรัย ใช้กลยุทธ์แบบไม่มีแกนนำที่ชัดเจน แต่มีรูปแบบการกระทำอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน การเคลื่อนเคลื่อนไหวของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมีลักษณะเป็นขบวนการเดียวกัน ที่มีเจตนาเดียวกันตั้งแต่แรก ถูกผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีพฤติการณ์กระทำซ้ำและกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่องโดยมีการกระทำกันเป็นขบวนการ ซึ่งมีลักษณะของการปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ แต่มีลักษณะก่อให้เกิดความวุ่นวายและความรุนแรงในสังคม

ระบอบประชาธิปไตยมีหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ เสรีภาพ หมายถึงทุกคนมีสิทธิที่จะคิด พูดและทำอะไรก็ตามที่ไม่มีกฎหมายห้าม เสมอภาค คือทุกคนมีความเท่าเทียมภราดรภาพหมายถึงคนทั้งหลายมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันฉันพี่น้อง มีความสามัคคีกัน การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ด้วยความผูกพันของปวงชนชาวไทยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีมานับหลายร้อยปี พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขจึงได้รับความยินยอมจากปวงชนชาวไทยให้ทรงใช้อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเป็นเสาหลักสำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นการกระทำใดๆ ที่มีเจตนาเพื่อทำลาย หรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าจะโดยวิธีการพูด เขียนหรือการกระทำต่างๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือทำให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

การใช้สิทธิเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย การกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการอ้างสิทธิหรือเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงหลักความเสมอภาค ภราดรภาพ ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากบุคคล รวมถึงล่วงละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่นที่เห็นต่าง ด้วยการด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่น ด้วยข้อเท็จจริงที่บิดเบือนจากความเป็นจริง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงประจักษ์ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะเป็นองค์กรเครือข่าย กระทำการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง บางเหตุการณ์ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีส่วนในการจุดประกายในการอภิปรายปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อันเป็นการทำลายหลักความเสมอภาค และภราดรภาพ ผลการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยในที่สุด

นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า การชุมนุมหลายครั้ง มีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยลบแถบสีน้ำเงินซึ่งหมายถึงพระมหากษัตริย์ออกจากธงไตรรงค์ ข้อเรียกร้อง 10 ข้อของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เช่นการยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ การยกเลิกการรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล การยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ เป็นข้อเรียกร้องที่ทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติกันตลอดมา


ทั้งพฤติกรรมและเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทำของถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 แสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่าการใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่เป็นการปฏิรูป

การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคตได้

ด้วยเหตุข้างต้น จึงวินิจฉัยว่าการ กระทำของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง


































กำลังโหลดความคิดเห็น