xs
xsm
sm
md
lg

“ประเทศไทย ต้องไม่มีคนไข้อนาถา” จากความฝัน สู่การลงมือทำของ “รมว.อนุทิน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ประชาชน ต้องมีอำนาจในสิทธิ์การรับบริการด้านสุขภาพ ตอนที่เข้ามารับตำแหน่ง มีนโยบายว่าประเทศไทยต้องไม่มีผู้ป่วยอนาถา ถึงวันนี้ นโยบายดัวกล่าวยังอยู่ วิธีการคือ ต้องให้ประชาชนมีสิทธิ์ มีอำนาจ ในเรื่องของสุขภาพ”

ตุลาคม 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสิ่งที่อยู่ในใจ และนี่มิใช่ เพียงความฝัน แต่อยู่ในแผนที่นายอนุทิน ลงมือทำมาโดยตลอด

นายอนุทิน มักพูดเสมอว่า

ประเทศไทย ต้องไม่มีคนไข้อนาถา

นายอนุทิน มองเห็นปัญหามาตั้งแต่ ยังไม่ได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสียด้วยซ้ำ ก่อนหน้านี้ นายอนุทิน คร่ำหวอดอยู่ในวงการสุขภาพของประเทศไทยมานานนับทศวรรษ จากการเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว จากนั้น รับอาสา ขับเครื่องบินส่งอวัยวะ ได้ติดต่อกับทีมแพทย์ อยู่เรื่อยมา นายอนุทิน ไม่เคยหลุดไปจากวงจรระบบสาธารณสุขไทยเลย ได้ฟัง และได้เห็นปัญหามาโดยตลอด โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดกับประชาชน

ที่สำคัญคือ ได้เห็นความทุกข์ยากของผู้ป่วย และภาพติดตาที่สุดคือ การที่ผู้ป่วย ต้องนอนกองกันอยู่ที่โรงพยาบาลเพื่อรอรับการรักษา ไปจนถึงการเห็นความทุกข์ยากของคนไข้ ที่ต้องหาสารพัดเอกสารมาใช้ เพื่อให้เข้าถึงการรักษา ทั้งที่นี่เป็นสิทธิ์ ที่ควรได้รับการอำนวยความสะดวก นายอนุทินคิดหาทางออกกับเรื่องนี้อยู่เสมอ

กระทั่งเกิดไอเดีย เมื่อได้เข้ามารับตำแหน่ง ซึ่งมีอำนาจในการดูแล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ดูแลเรื่องสิทธิ์ “บัตรทอง” ที่นายอนุทินมองว่าสามารถพัฒนาต่อยอดให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้

และใช้เวลาประมาณ 1 ปีนับจากเข้ารับตำแหน่ง ในการเดินหน้านโยบาย ที่จะกลายเป็นก้าวสำคัญ ของการยกระดับระบบสาธารณสุขไทย

“สิ่งที่อยากเห็น คือ เมื่อผู้ป่วยไปรักษาที่ไหน ก็ต้องได้รับบริการตรงนั้นเลย ไม่ต้องมาแยกว่า จดทะเบียน รพ.แถวบ้านต้องใช้สิทธิ์ตามนั้น ไม่ใช่อีกต่อไป ซึ่งต้องพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ โดยต้องทำให้เกิดเป็นรูปธรรมด้วยความรวดเร็ว เพราะเรื่องสุขภาพประชาชน จะรอไม่ได้ มันไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ และเชื่อว่า สปสช. ก็พยายามดำเนินการเรื่องนี้อยู่ แต่ผมทำให้เป็นนโยบาย จะได้มีความชัดเจนขึ้น นอกจากนั้น ผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทอง จะต้องไม่มีคำว่าอนาถา คนไทย ต้องได้รับการดูแลอย่างดีในระบบสาธารณสุขของไทย”

สิงหาคม 2563 นายอนุทิน เผย ไอเดียสำคัญออกมา ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นการเดินหน้านโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ นายอนุทิน ให้คำนิยามว่าเป็นภาค 2 ของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค

“มีการตั้งข้อสงสัย ว่าเราจะทำได้ไหม แต่ผมขอให้นึกย้อนดู สมัยหนึ่ง นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ก็มีคำถามแบบนี้ แต่มันก็ต้องอาศัยการเริ่มต้น และค่อยๆ ปรับกันไป สุดท้าย จากที่นโยบายวันนั้น รักษาได้บางโรค วันนี้ ก็รักษาได้เกือบทุกโรค โรคหายาก ก็รักษาได้แล้ว ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ เพียงแต่มันต้องมีก้าวแรก”

นายอนุทินอธิบาย ก่อนจะ KICK OFF 4 นโยบายสำคัญ เดินหน้าเป็นรูปธรรมในปี 2564

1.ประชาชนเจ็บป่วย ไปรับบริการกับหมอประจำครอบครัว ในหน่วยบริการปฐมภูมิทุกที่ ในระบบบัตรทอง ตามนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” นำร่องในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ตามความพร้อม

ในการดำเนินงานนั้น กระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร จะขยายเครือข่ายบริการปฐมภูมิเพื่อรองรับ มีการเชื่อมต่อข้อมูลคลินิกหมอครอบครัวและผู้ป่วยเพิ่มเติม จัดทำระบบตรวจสอบสิทธิผ่านแอปพลิเคชัน และมีระบบยืนยันตัวตนประชาชนในการรับบริการผ่านบัตรประชาชน

2.ผู้ป่วยในไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว จากเดิม ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ที่เข้ารับการรักษาตัว เป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล มีส่วนหนึ่งต้องนอนรักษาต่อเนื่อง ด้วยสาเหตุทางการรักษา ซึ่งในกรณีที่ใบส่งตัวครบกำหนด ในการใช้สิทธิบัตรทองต่อเนื่อง ผู้ป่วยหรือญาติต้องกลับไปยังหน่วยบริการประจำเพื่อขอใบส่งตัวใหม่ ทำให้เกิดความไม่สะดวกและเป็นปัญหา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัด

ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกในกรณีนี้ สปสช.ได้ปรับระบบ ให้ผู้ป่วยในสามารถรักษาต่อเนื่องได้ทันที ตามการวินิจฉัยของแพทย์โดยไม่ต้องใบส่งตัว ใช้เพียงบัตรประชาชนตรวจสอบตัวตนผู้ป่วย มีการนำร่องในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และกรุงเทพมหานครแล้ว

3.โรคมะเร็ง สามารถรับบริการที่ไหนก็ได้ที่มีความพร้อม โดยผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยแล้วว่าเป็นมะเร็ง จะได้ใบรับรองและประวัติ หรือ Code เพื่อเลือกไปรับบริการที่อื่นผ่าน 3 ช่องทาง คือ สายด่วน สปสช. 1330, แอปพลิเคชัน สปสช. และติดต่อที่หน่วยบริการโดยตรง เฉพาะที่โรงพยาบาลรักษามะเร็งที่มีความพร้อมเข้าร่วม และให้บริการตามโปรโตคอลรักษามะเร็ง บริการระบบสาธารณสุขทางไกล (Telehealth) บริการปรึกษาเภสัชกรทางไกล (Tele pharmacy) และการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน

4.ย้ายหน่วยบริการได้สิทธิทันที ไม่ต้องรอ 15 วัน จากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาก้าวหน้า โดยเฉพาะการเชื่อมต่อข้อมูลไปยังหน่วยบริการ ทำให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการใหม่ได้ทันที หลังเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ รวมถึงกรณีที่เปลี่ยนหน่วยบริการเอง ผ่านแอปพลิเคชัน สปสช.

ทั้งนี้ ความเป็นรูปธรรมเชิงนโยบาย มีรายงานจาก นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ประชาชนในเขตสุขภาพที่ 9 (นครราชสีมา) และเขต 13 (กรุงเทพมหานคร) ซึ่งสามารถรักษาพยาบาล โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวนั้น มีความชื่นชอบในแนวทางนี้อย่างยิ่ง เนื่องจากได้เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยที่ไม่ต้องมีภาระกลับไปขอใบส่งตัวกรณีไปรับการรักษาผู้ป่วยในต่างหน่วยบริการประจำ ที่โคราชมีการดำเนินการจำนวน 82,599 ครั้ง โดยไม่ปรากฏข้อร้องเรียน

นี่ถือเป็นความสำเร็จ และเป็นแรงผลักดันให้นโยบายดัลกล่าวจะต้องเดินหน้าใช้ในทั่วประเทศ ภายในปี 2565 โดยประเด็นนี้ ได้เป็นมติเห็นชอบร่างประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว

ขณะเดียวกัน มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุข ถึงยอดการเข้ารับบริการรักษาพยาบาล ตามสิทธิ์ 30 บาทรักษาทุกที่ ข้อมูลล่าสุด เดือนตุลาคม 2564 ระบุว่า มีประชาชนรับบริการแล้วกว่า 9.5 แสนครั้ง ขณะที่นโยบายมะเร็งรักษาทุกที่ มีประชาชนเข้ารับบริการกว่า 2.5 แสนราย

เหล่านี้ คือความคืบหน้าเชิงนโยบายของนายอนุทิน ที่ต้องการเพิ่มเติมสิทธิ์ด้านสุขภาพแก่ประชาชนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“ประชาชน ต้องมีอำนาจในสิทธิ์การรับบริการด้านสุขภาพ ตอนที่เข้ามารับตำแหน่ง มีนโยบายว่าประเทศไทยต้องไม่มีผู้ป่วยอนาถา ถึงวันนี้ นโยบายดัวกล่าวยังอยู่ วิธีการคือ ต้องให้ประชาชนมีสิทธิ์ มีอำนาจ ในเรื่องของสุขภาพ”

นี่คือสิ่งที่นายอนุทินพูด และเป็นสิ่งที่นายอนุทิน กำลังลงมือทำ






กำลังโหลดความคิดเห็น