xs
xsm
sm
md
lg

ทำทุกทาง ! “ภูมิใจไทย” ดัน นโยบายกัญชา สมฉายา “พรรคปฏิบัติการ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ถึงจะโดนเรื่องโควิด 19 กลบ จนเรื่องกัญชา ต้องหายเงียบ แต่ในความเงียบ กลับมีความเคลื่อนไหว ที่สะท้อนความคืบหน้าในนโยบายกัญชา ซึ่งเป็นเดิมพันสำคัญของพรรค “ภูมิใจไทย”

รู้หรือไม่ ??? จากในอดีตที่กัญชา มีสถานะเป็น “สิ่งเสพติด” หากแม้นมีการครอบครอง ไปจนถึงนำมาใช้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดล้วน “ผิดกฎหมาย” เป็นผู้ร้ายตลอดกาล ปัจจุบัน ประเทศไทยคลายล็อกให้สามารถปลูกกัญชาได้อย่างถูกกฎหมายแล้ว กัญชากำลังค่อยๆ เปลี่ยนบทบาทให้กลายเป็น “พระเอก” มากยิ่งขึ้น จนไทยได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าในเรื่องการนำกัญชามาใช้ ที่ก้าวหน้าที่สุดในอาเซียน

รู้หรือไม่ ? วันนี้ ประชาชนสามารถเข้าถึงการปลูกกัญชาได้อย่างถูกกฎหมายแล้วกว่า 1.6 ล้านตารางเมตร

รู้หรือไม่ ? ในปี 2564 เพียงปีเดียวสินค้าที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม มีมูลค่าในตลาดสูงถึงกว่า 7 พันล้านบาท

รู้หรือไม่ ? ประเทศไทย มีคลินิกกัญชาแล้วใน 760 โรงพยาบาลทั่วประเทศ

รู้หรือไม่ ? มีประชาชนกว่า 7.6 หมื่นคน ใช้บริการคลินิกกัญชา เป็นทางออกในการรักษาโรค

เหล่านี้คือปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นแล้ว ในประเทศไทย และเป็นเครื่องยืนยันความคืบหน้าของนโยบายกัญชาเสรี

เป็นผลจากการทุ่มกาย เทพลัง ตลอด 2 ปีเศษที่พรรคภูมิใจไทย “ต้อง” ผลักดันนโยบายกัญชาทางการแพทย์ให้ไปข้างหน้า เนื่องเพราะเป็นนโยบายสำคัญที่ทำให้พรรคโกยคะแนนเลือกตั้ง กระทั่งได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล และหัวหน้าพรรคอย่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อผลักดันให้นโยบาย เกิดความเป็นรูปธรรม ตามแผนบันได 3 ขั้น เริ่มจากแก้กฎหมาย ให้กลายเป็นพืชสมุนไพร ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ไปจนถึงเป็นพืชเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องประชาชน

ซึ่งการก้าวขึ้นบันไดแต่ละขั้นนั้น ไม่ใช่เรื่องหมู ต้องฝ่าฟัน “ความเชื่อ” จากสังคมไทย จำนวนไม่น้อย ที่ยังปฏิเสธกัญชา ขณะที่กฏเกณฑ์ระหว่างประเทศ ก็เป็นดั่งกำแพงที่ยากจะปีนข้าม มีเพียงการค่อยแก้กฎหมายทีละชั้นอย่างละเอียดรอบคอบที่สุด ถึงจะสามารถคลายล็อกกัญชาได้

ข้อเท็จจริงคือ ประเทศไทยอยู่ภายใต้อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษค.ศ. 1961 แก้ไขโดยพิธีสารค.ศ. 1972 และอนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทค.ศ. 1971 ซึ่งอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ยินยอมให้ใช้กัญชาทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ได้แต่รัฐบาลต้องคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสุขภาพและการป้องกันการรั่วไหลไปยังตลาดมืดซึ่งรัฐบาลต้องมีการข้อกำหนดที่ชัดเจนในการอนุญาตให้ผลิตปลูกหรือใช้กัญชาทางการแพทย์ที่จะต้องดำเนินการโดยมีระบบใบอนุญาต(Licensing System) เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดกัญชาของรัฐนั้นๆจะไม่เกินความต้องการใช้ทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์” โดยมีคณะกรรมการการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศจะเป็นหน่วยงานที่เป็นกลไกกำกับดูแลการปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติของอนุสัญญาฯประเทศภาคีสมาชิกจะต้องรายงานให้ทราบเกี่ยวกับการดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่ผิดกฎหมาย

นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ประเทศไทย ต้องนำเรื่อง “การแพทย์” มานำร่องเรื่องกัญชา เป็นไฟท์บังคับ ที่นายอนุทิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขทราบดี ซึ่งนายอนุทิน ค่อยๆ ขยับแก้กฎหมายไปทีละขยักผ่านอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เริ่มจากวันที่ 6 สิงหาคม ปี 2562 ได้ ลงนามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข รับรองสถานะหมอพื้นบ้าน เปิดช่องให้หมอพื้นบ้านใช้กัญชา เป็นส่วนผสมในตำรับยา ขณะเดียวกัน ยังได้ผลักดันให้ “วิสาหกิจชุมชน” ทั่วประเทศ ปลูกกัญชา สำหรับส่งไปยังโรงพยาบาลสำหรับใช้ผลิตยา เพื่อเตรียมใช้ในคลินิกกัญชา ที่จะเกิดขึ้นในปีเดียวกัน พร้อมไปกับการปลดล็อกให้สารสกัดจากกัญชา ทั้ง THC และ CBD ไม่เป็นยาเสพติด ตามเงื่อนไขที่กำหนด เหล่านี้ เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถนำกัญชาไปในทางการแพทย์ได้ โดยมีเงื่อนไขน้อยที่สุด ขณะที่แหล่งผลิต ที่เกิดขึ้น จะกลายมาเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบในเชิงเศรษฐกิจด้วย

ซึ่งการเปลี่ยนร่างกัญชาจากพืชสมุนไพร สู่พืชเศรษฐกิจนั้น ต้องย้อนกลับไป ในวันที่ นายอนุทิน นำกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศกระทรวง เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ให้บางส่วนของต้นกัญชาและกัญชงไม่จัดเป็นยาเสพติด
ส่วนต่าง ๆ ของกัญชาที่ไม่จัดเป็นยาเสพติด ได้แก่ เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย สารสกัด CBD ที่มี THC ไม่เกินร้อยละ 0.2% และกากที่เหลือจากการสกัดกัญชา ซึ่งต้องมี THC ไม่เกิน 0.2%
ประชาชน เอกชน สามารถใช้ประโยชน์จากส่วนเหล่านี้ได้ แต่มีข้อกำหนดว่าต้องได้มาจากสถานที่ปลูกหรือผลิตในประเทศ ซึ่งได้รับอนุญาตแล้วเท่านั้น

เมื่อสามารถนำส่วนต่างๆ ของกัญชามาใช้ประโยชน์ได้ทั่วไปแล้ว จึงเห็นร้านค้าจำนวนมาก นำวัตถุดับจากกัญชามาใช้เพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์ ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการเป็นจำนวนมหาศาล จนกัญชาได้ชื่อว่าเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับคนไทย จำนวนไม่น้อย จากที่กัญชา ต้องหลบเร้นอยู่ในมุมมือ การแก้กฎหมายที่ผ่านมา ทำให้เราได้มีโอกาสทานบราวนี่กัญชา ชาที่ทำมาจากกัญชา ข้าวผัดกัญชา พิซซ่ากัญชา ไปจนถึงใช้เครื่องสำอาง ที่มามีส่วนผสมของกัญชาประกอบอยู่

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การใช้กัญชา มีความกว้างขวางมากยิ่งขึ้น การคลายล็อกกฎหมาย ยังต้องดำเนินต่อไป และเรื่องจากนี้ จะไม่ใช่เพียงอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจาก หากจะดำเนินการคลายล็อกให้มากกว่านี้ เพื่อการถือกำเนิดสู่ความเป็นรูปธรรมของนโยบาย 6 ต้น นี่คืองานระดับเมกะโปรเจ๊ก ที่ต้องอาศัยอำนาจนิติบัญญัติช่วย ผ่านทางการขับเคลื่อนของ “พรรคภูมิใจไทย”

โดยพรรคภูมิใจไทย ได้ยื่นร่างกฎหมายยาเสพติดให้โทษแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ .. โดยเฉพาะเรื่องการปลูกกัญชาเสรี ,ร่างกฎหมายสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย ซึ่งแก้ไขให้อนุญาตบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยให้ปลูกเพื่อบริโภคส่วนบุคคลเพื่อรักษาทางการแพทย์ได้ไม่เกิน 6 ต้นต่อครอบครัว ,ร่างกฎหมายสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นหน่วยงานของรัฐในการวิจัย ควบคุม อนุญาตและแปรรูป เพื่อเศรษฐกิจของประเทศ

โดยร่างกฎหมายดังกล่าว เป็นการปรับให้การใช้กัญชานั้นเปิดกว้าง แต่ก็สอดคล้องกับเงื่อนไขขององค์การควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ โยเฉพาะ การผลักดันให้มีการตั้งสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย ที่จะทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลการปลูก และการใช้กัญชา ซึ่งจะต้องเป็นการใช้ทางการแพทย์ เพื่อแจ้งต่อ คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดระหว่างประเทศ (INCB) แว่วมาว่า หลังเปิดสภา พรรคภูมิใจไทยจะกระทุ้งเพื่อนสมาชิกในสภา ให้เร่งพิจารณากฎหมายเหล่านี้

สำหรับพรรคภูมิใจไทยนั้น จุดแข็งของพรรคคือ การได้ชื่อว่าเป็นพรรคปฏิบัติการ พูดจริง ทำจริง ซึ่งเป็นนิยามโดย รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง ณ ปัจจุบันนี้ นักวิชาการคนดัง ก็ยังเคยให้ความเห็นว่า นโยบายกัญชาของพรรคภูมิใจไทย อยู่ในระดับที่เรียกว่าทำได้สำเร็จ และสามารถใช้ความสำเร็จนี้ไปต่อยอดนโยบายกัญชาภาค 2 ในการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งต่อไปได้

นักวิชการคนดังมิได้พูดเกินจริง เพราะหากเรามามองตัวเลขความคืบหน้าของนโยบายกัญชาเสรี ก็ต้องยกสถิติ ดังต่อไปนี้มาปิดท้าย

วันนี้ ประชาชนสามารถเข้าถึงการปลูกกัญชาได้อย่างถูกกฎหมายแล้วกว่า 1.6 ล้านตารางเมตร

ในปี 2564 เพียงปีเดียวสินค้าที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม มีมูลค่าในตลาดสูงถึงกว่า 7 พันล้านบาท

ประเทศไทย มีคลินิกกัญชาแล้วใน 760 โรงพยาบาลทั่วประเทศ

มีประชาชนกว่า 7.6 หมื่นคน ใช้บริการคลินิกกัญชา เป็นทางออกในการรักษาโรค

นี่คือผลงานของนโยบายกัญชาเสรี ภายใต้การเดินหน้าของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พรรคสายปฏิบัติการ ของประเทศไทย






กำลังโหลดความคิดเห็น