วันนี้ (29 ต.ค.)นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ พร้อมคณะ ฯ ได้เดินทางมายังจังหวัดภูเก็ต เพื่อพบปะและรับทราบปัญหาของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่หาดป่าตอง ทั้งผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก ร้านนวด ร้านอาหาร รถตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไชค์รับจ้าง และเดินพบปะผู้ประกอบการในซอยบางลา ซึ่งเป็นแหล่งบันเทิงยามค่ำคืนชื่อดังของภูเก็ต
ทั้งนี้ นายมงคลกิตติ์ กล่าวว่า การเดินทางมาภูเก็ตในครั้งนี้เพื่อต้องการทราบว่าที่รัฐบาลออกมาพูดว่าโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ประสบความสำเร็จ มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังจังหวัดภูเก็ตเป็นจำนวนมากและสามารถทำให้ภูเก็ตกลับมาเหมือนเดิมได้นั้น เป็นไปอย่างที่พูดกันหรือไม่ แต่เท่าที่ทราบตั้งแต่เปิดโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม จนถึงปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาภูเก็ตประมาณ 40,000 กว่าคนเท่านั้น ซึ่งจากการพูดคุยกับทางนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวในภูเก็ตแต่ละคนจะใช้อยู่ที่ 100,000 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายเช่น ค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าการตรวจ RT-PCR (Polymerase chain reaction) ซึ่งเป็นการ Swab เก็บตัวอย่างเชื้อบริเวณลำคอ และหลังโพรงจมูก
ค่าที่พัก-ค่ากินดื่ม เป็นต้น มีรายได้รวมไม่เกิน 3-4 พันล้านบาท จากเดิม จ.ภูเก็ต มีรายได้ก่อนโควิด ในปี 2562 ถึงปีละ 470,000 ล้านบาท อีกทั้ง ยังไม่กระจายไปไม่ถึงผู้ประกอบรายใหญ่รายเล็กรายย่อย และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังตั้งหลักไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่หรือรายย่อย โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก หรือโฮลเทลต่างๆ ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีห้องพักไม่กี่ห้อง ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ไม่สามารถที่จะเปิดให้บริการได้ในขณะนี้ เนื่องจากยังติดเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ.2547 และกฎหมายอื่นทีเกี่ยวข้องด้วย
“เท่าที่ผมดูในภาพรวมของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ นั้น รายได้ส่วนใหญ่ ยังไม่ขยับลงไปสู่ชาวภูเก็ตอย่างแท้จริง โดยจากการที่ผมพูดคุยกับผู้ประกอบการทั้งรายเล็ก รายใหญ่ยังมีหนี้สินเป็นจำนวนมาก และสถาบันทางการเงินไม่ได้มีการช่วยเหลือเท่าที่ควรจะเป็น อย่างการปล่อยเงินกู้ และซอฟต์โลน ช่วยเหลือผู้ประกอบการจะติดเรื่องใบอนุญาต ติดเรื่องสเตตเมนต์ เรื่องเครดิตบูโร แม้กฎหมายจะผ่านสภาไปแล้ว แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้อนุโลมไม่ได้ผ่อนปรน ในความเป็นจริงสถานการณ์แบบนี้รัฐบาลเองเมื่อคิดที่จะเปิดประเทศแล้วจำเป็นที่จะต้องให้เงินทุนผู้ประกอบการในการที่จะมารื้อฟื้นเศรษฐกิจ เพื่อจะรองรับนักท่องเที่ยวที่กำลังจะเข้ามายังประเทศ และต้องให้มีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ยืดระยะเวลาให้ผู้ประกอบการสามารถยืนได้ ซึ่งถ้าเป็นต่างประเทศจะมีเงินอุดหนุนให้ฟรีจากทางรัฐบาลในการเยียวยาเหมือนประกอบการปกติ ยังสามารถจ่ายลูกน้อง ภาษีได้ รวมในเงินกู้การลงทุนเพิ่มใหม่ แต่ในประเทศไทยผู้ประกอบการต้องดิ้นรนเอง เช่น การปฏิบัติตามโครงการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety and Health Administration หรือ SHA) เพื่อให้ได้ประกาศนียบัตรรับรองนั้น ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง สุดท้ายผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้” นายมงคลกิตติ์ กล่าว