“สนธิญา สวัสดี” เข้าให้ข้อมูลยุบพรรคเพื่อไทย ต่อ กกต. พร้อมยื่นเรื่องเพิ่มปม “ขับ 2 ส.ส. ศรัณย์วุฒิ-พรพิมล” และกรณี ส.ส.มุกดาหาร เพื่อไทย ตบทรัพย์
วันนี้ (15 ต.ค.) นายสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือต่อ กกต.ขอให้พิจารณาพรรคเพื่อไทย กรณีขับ นายศรัณย์วุฒิ ศรัณเกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ และ น.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี ออกจากเพื่อไทย เนื่องจากโหวตสวนมติพรรค และกรณีการที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย เรียกรับเงินจากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
นายสนธิญา กล่าวว่า ได้ยื่นขอให้ กกต.ยุบพรรคเพื่อไทย รวม 3 ครั้งแล้ว โดยในวันนี้ยื่นอีก 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่พรรคเพื่อไทยขับ 2 ส.ส.ออกจากพรรค เนื่องจากยื่นสวนมติพรรค ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 ระบุว่า บทบัญญัติใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญใช้บังคับมิได้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้อ้างข้อบังคับของพรรคเพื่อไทยและไปขับ ส.ส. นอกจากนี้ ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 114 และ 124 ที่ระบุว่า การออกเสียงและลงคะแนนเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส. และมาตรา 224(5)(6) ที่ระบุให้อำนาจ กกต.ในการพิจารณายุบพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ ยังฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 14(4) ที่ระบุว่า ข้อบังคับพรรคต้องไม่มีลักษณะครอบงำเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ
ส่วนประเด็น ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย ที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดว่ากระทำการเรียกรับเงินต่ออธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นการกระทำผิดต่อ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 20, 21, 22, 46 และมาตรา 92(1)(2)(3) โดยขอให้ กกต.พิจารณาเรื่องดังกล่าวส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคต่อเพื่อไทยต่อไป
นอกจากมายื่นยุบพรรคเพื่อไทยแล้ว ในวันนี้ นายสนธิญา ยังได้เข้าให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่สอบสวนของสำนักงาน กกต. ที่เกี่ยวกับการยื่นคำร้อง เพื่อขอให้ กกต.พิจารณายุบพรรคเพื่อไทย และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย
เมื่อถามว่า กรณีที่พรรคเพื่อไทยมีมติขับ นายศรัณย์วุฒิ ศรัณเกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ ออกจากพรรค โดยให้เหตุผลว่า เป็นการพูดให้ร้ายพรรค ไม่ใช่เรื่องของการโหวตสวนมติพรรคในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น นายสนธิญา กล่าวว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย จะต้องมาชี้แจงต่อ กกต. เพราะ ส.ส.ที่ถูกขับออกจากพรรคคนดังกล่าว ระบุว่า ที่ตนถูกขับออกจากพรรคเนื่องจากโหวตสวนมติพรรค ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่ต้องไปดูข้อเท็จจริง แต่ไม่ว่ากฎหมาย หรือข้อบังคับอะไรก็ตาม ขัดรัฐธรรมนูญก็บังคับใช้ไม่ได้ ซึ่งแม้แต่การอภิปรายต่างๆ ในสภาของ ส.ส. ต่างได้รับเอกสิทธิ์ในการคุ้มครองตามกฎหมาย แม้กลุ่มบุคคลภายนอกที่ได้รับผลกระทบก็ไม่สามารถฟ้องร้องได้