นายกเมืองพัทยา นำทีมแพทย์ พยาบาล และอสม. ลงพื้นที่ชุมชนเมืองพัทยา ฉีดวัคซีนเชิงรุกกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ด้วยความห่วงใยถึงบ้าน ประชาชนพอใจบริการรวดเร็วและดูแลต่อเนื่อง พร้อมระบบตรวจโควิด-19 มีประสิทธิภาพ เชื่อมผ่านแอพลิเคชั่นและไลน์ พร้อมคัดแยกผู้ติดเชื้อสู่ Hospitel ได้รวดเร็ว มั่นใจเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว 1 พ.ย.นี้ ตามนโยบาย ศบค.
นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เดินทางลงพื้นที่ดูแลขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนเชิงรุกให้แก่ชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเสี่ยง ร่วมกับโรงพยาบาลเมืองพัทยา อสม.และทีมสาธารณสุข พร้อมให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพและมอบยาเวชภัณฑ์ กรณีที่มีปัญหาสามารถประสานกับโรงพยาบาลได้ทันที ปรากฎว่าได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากประชาชนและชาวชุมชน
สำหรับภารกิจเชิงรุกฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงถึงบ้านได้กระจายไปอย่างน้อย 10 ชุมชนทั่วเมืองพัทยา อาทิ ชุมชนบงกช น.ส.จิตรา แซ่อึ้ง อายุ 94 ปี บ้านเลขที่ 327/164 ม.9 ซ.บงกช 6 , ชุมชนเพนียดช้าง นางสังเวียน ควรบำรุง อายุ 85 ปี อยู่บ้านเลขที่ 6/5 ม.9 ซอยสุขุมวิท-พัทยา 40 และ ชุมชนต้นกระบก นายคณิต ขันหนองโพธิ์ อดีตทหารผ่านศึกอายุ 80 ปี อยู่บ้านเลขที่ 241/20 หมู่บ้านชลิตา เป็นต้น
นางมาลี รักษาราษฎร์ ประธานอสม. ชุมชนหนองใหญ่ 1 พัทยา กล่าวว่า ทีมอสม.ได้ร่วมปฏิบัติการดูแลตรวจสุขภาพชุมชนครอบคลุมพื้นที่กว่า 100 หลังคาเรือน และทำงานร่วมกับเมืองพัทยาอย่างมีประสิทธิภาพ พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่พอใจที่ได้รับบริการวัคซีนโควิด-19 อย่างรวดเร็วและได้ติดตามดูแลต่อเนื่องถึงระดับครัวเรือน
นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า ระบบการดูแลผู้ป่วยและฉีดวัคซีนโควิด-19 ของเมืองพัทยาดำเนินการเต็มศักยภาพ และขับเคลื่อนแบบเชิงรุกเข้าถึงประชาชนในชุมชน จนถึงกลุ่มเปราะบางผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง โดยมี โรงพยาบาลเมืองพัทยา เป็นสถานพยาบาลหลักในการกระจายวัคซีน
“ขณะนี้เราให้บริการวัคซีนสองเข็มกับผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองพัทยาโดยรวมแล้วเกินกว่า 70% ถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายในการที่เราจะเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 พย.นี้ได้” นายสนธยากล่าว
ส่วนประชาชนที่ไม่มีทะเบียนบ้านเขตเมืองพัทยาหรือประชากรแฝงนั้น ขณะนี้ก็ได้เร่งจัดสรรบริการวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มชาวต่างชาติ กลุ่มต่างด้าวผู้อาศัยหรือทำงาน วางระบบให้ทุกคนเข้าถึงรวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพเช่นกัน
นายกเมืองพัทยา กล่าวอีกว่า มาตรการตรวจเชิงรุกอีกส่วน คือการตรวจด้วย ATK ในชุมชนและพื้นที่นอกโรงพยาบาลเมืองพัทยา จะช่วยควบคุมโรคทั้งกลุ่มเสี่ยงสูง กลุ่มเสี่ยงกลาง กลุ่มสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย หากพบก็จะตรวจแบบ RT-PCR อีกครั้ง เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากชุมชนทันทีและรักษา ทำให้เราสามารถควบคุมปริมาณผู้ป่วยได้ดี
“ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวจะส่งไปที่ Hospitel มีอย่างน้อย 2 แห่ง มีแพทย์ดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดรองรับได้ถึง 1600 เตียง แต่ถ้าท่านใดไม่สะดวกก็มีระบบโฮมแคร์ กักตัวดูแลที่บ้าน เรามีแอพลิเคชั่นและไลน์ที่แพทย์สามารถติดตามอาการ”
ส่วนผู้ป่วยหนักโควิด-19 กลุ่มสีแดง ทางโรงพยาบาลเมืองพัทยา มีเตียงสำหรับผู้ป่วยจำนวน 32 เตียง และ กำลังจะขยายเพิ่มเป็น 50 เตียง ดังนั้น ด้วยระบบสาธารณสุขที่เตรียมพร้อมและมีศักยภาพของเมืองพัทยา ทำให้รับมือกับโควิด-19 ได้ทั้งกลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง ทั่วถึงในระดับชุมชนอีกด้วย
ด้าน นางภาวนา เจนสมุทรสินธุ์ ผู้จัดการโครงการ Hospitel พัทยา กลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ (CHG) กล่าวว่า ปัจุบันเมืองพัทยาจัด Hospitel สองแห่ง คือที่โรงแรมดีวารี และ โรงแรมโอโซ่ นอร์ธ พัทยา รองรับผู้ที่มีผลตรวจ RT-PCR เป็นบวกได้แห่งละ 800 เตียง ให้บริการทางการแพทย์ดูแลอย่างดี อาทิ ตรวจเอ็กซเรย์ปอด การเจาะเลือด มีทีมพยาบาลตรวจวันละ 2 ครั้ง ทั้งแบบการโทรและเยี่ยมดูอาการ
“ด้วยความเอาใจใส่ทำให้ผู้ป่วยพึงพอใจรวมทั้งเรื่องห้องพักและอาหาร เมื่อกักตัวครบ 14 วันก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้” นางภาวนาระบุ