xs
xsm
sm
md
lg

สตง.ชำแหละ งบ 3 กลุ่มจังหวัด กว่า 800 ล้าน ปัญหาเพียบ “ซีซีทีวี” มูลค่า 30 ล้าน “เหนือตอนล่าง 2” กว่า 200 ตัว “เสีย!”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สตง. ชำแหละ งบบริหารราชการ 3 กลุ่มจังหวัด กว่า 800 ล้าน พบแผนค้าชายแดน “อีสานตอนล่าง 1” กว่า 200 ล้าน เฉพาะโครงการก่อสร้างถนนสนับสนุนเปิดด่านชายแดนถาวร “ล่าช้า” แถมงานแสดงสินค้าชายแดนส่อไม่คุ้มค่า ส่วน ยุทธศาสตร์ 20 ปี เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร “อีสานตอนล่าง 2” วงเงิน 381 ล้าน พบ 14 โครงการ ที่เบิกจ่ายงบ บรรลุวัตถุประสงค์แค่ 1 โครงการ ด้าน “เหนือตอนล่าง 2” งบกว่า 164 ล้าน แผนท่องเที่ยวปลอดภัย ปัญหาเพียบ! เฉพาะ “กล้อง CCTV” 2 จังหวัด กว่า 27 ล้าน กว่า 200 ตัว “เสีย!”

วันนี้ (30 ก.ย. 64) มีรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สตง.เผยแพร่ผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานการบริหารราชการของกลุ่มจังหวัด 3 กลุ่มจังหวัด ใน 3 รายการ งบประมาณรวมกว่า 800 ล้านบาท ประกอบด้วย ประเด็นการตรวจสอบ “ยุทธศาสตร์การส่งเสริมและพัฒนาการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562” ของ “กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1”

ประเด็นการตรวจสอบการบริหารจัดการยุทธศาสตร์การเพิ่มมูลค่าข้าวหอมมะลิ พืชเศรษฐกิจ ปศุสัตว์และประมง ด้วยอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ ของ “กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2” ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 และ ประเด็นการตรวจสอบแผนงานบูรณาการส่งเสริมการพัฒนา “กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2” ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2561 ด้านการเพิ่มศักยภาพภาคการท่องเที่ยวและบริการ

ในส่วนของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์) หรือ นครชัยบุรินทร์ ตามแผนยุทธศาสตร์ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ด้านการค้าชายแดนที่ติดต่อกับประเทศกัมพูชา ทั้ง ด่านช่องจอม บ้านด่านพัฒนา ต.กาบเซิง อ.กาบเซิง จังหวัดสุรินทร์ และจุดผ่อนปรนการค้าช่องสายตะกู ต.จันทบเพชร อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์ ซึ่งพัฒนายกระดับจุดผ่อนปรนการค้าช่องสายตะกูเป็นด่านถาวร

“ในปี 2562 ได้รับงบประมาณ 204,055,800 บาท แบ่งเป็น เพื่อแข่งขันด้านการเกษตรอุตสาหกรรมและแปรรูป, ได้รับงบ 231,351,600 บาท เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์ไหม ได้งบฯ 34,325,000 บาท ส่งเสริมการค้า การลงทุน การค้าชายแดน สุดท้ายงบฯ 4,514,600 บาท ในการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิต”

เฉพาะการค้าชายแดน ตามแผนของ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย ในปีงบฯ 2562 ซึ่งบกว่า 37,600,000 บาท เช่น กิจกรรมพัฒนาตลาดเพื่อเชื่อมโยงการค้าสู่สากล พัฒนาผู้ประกอบการเพื่อยกระดับการส่งออก ก่อสร้างถนนลาดยางสายแยก ทางหลวงหมายเลข 24 เชื่อมแยกทางหลวงหมายเลข 2445 อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ (ตอนที่ 1)
สตง.พบว่า กลุ่มนครชัยบุรินทร์ โดยคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก.) นอกจาก ไม่ได้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ใน การศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ประสานเชื่อมโยงกลยุทธ์ในระดับต่างๆ การบูรณาการแผนงานและงบประมาณ

“โครงการไม่ได้เป็นโครงการในลักษณะแบบบูรณาการ ซึ่งมุ่งเน้นการทำงาน แบบเครือข่ายร่วมกันของทุกภาคส่วน แต่เป็นการดำเนินโครงการตามกิจกรรม เช่น โครงการก่อสร้างถนนลาดยางของแขวงทางหลวงชนบทบุรีรัมย์ เป็นการก่อสร้างในพื้นที่ที่ไม่ได้กำหนดในแผนพัฒนาภาค ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนา การค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน กับหลายจังหวัด ซึ่งยังไม่สามารถผลักดันให้มีการยกระดับ ให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรเพื่อเปิดเส้นทางการค้า การขนส่งระหว่างไทย-กัมพูชาได้”

รายงานผลการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2562 ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับ การประเมินผลตามตัวชี้วัดที่ การตรวจติดตามและประเมินผลของ สำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย เป็นเพียงรายงาน
“แถมไม่ได้รวบรวมปัญหาและ ความต้องการของประชาชนเชิงพื้นที่ โครงการไม่ได้เป็นไปในลักษณะห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) เป็นต้น”

ขณะเดียวกับ โครงการก่อสร้างถนน ในหลายพื้นที่ ที่บัดนี้ระยะเวลาได้ล่วงเลยมาเป็นเวลานานมากกว่า 2 ปีแล้ว พบว่า การเสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณมีเจตนาเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะทำการก่อสร้าง อีกทั้งเป็นการสร้างภาระปัญหาระหว่างหน่วยงาน ซึ่งในอนาคตยังไม่ทราบว่าจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร

ขณะที่กิจกรรมย่อย เช่น งานแสดงสินค้าภายในประเทศ ที่ใช้งบกว่า 3,925,000 บาท ในปี 2562 หรือ การจัดอบรมสัมมนาผู้ประกอบการ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เป็นไปตามตัวชี้วัดของโครงการที่กำหนด

โดย สตง.เห็นว่า เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณเนื่องจากมีบางกิจกรรมไม่สามารถเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้เป็นไปตาม วัตถุประสงค์ และยังไม่บรรลุผลตามตัวชี้วัดที่กำหนด

ขณะที่ โครงการที่ 2 ว่าด้วย การตรวจสอบยุทธศาสตร์การเพิ่มมูลค่าข้าวหอมมะลิ พืชเศรษฐกิจ ปศุสัตว์และประมง ด้วยอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและมาตรฐานสินค้า เกษตรอินทรีย์ ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี) หรือ ราชธานีเจริญศรีโสธร ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 22 โครงการ งบประมาณ 381,628,400 บาท

พบว่า มีโครงการที่ดำเนินงานได้จริง จำนวน 14 โครงการ งบประมาณรวม 194,744,037.64 บาท โดยการตรวจสอบที่น่าสนใจ พบว่า การบริหารยุทธศาสตร์ กลุ่มนี้ยังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

“ใน 14 โครงการ พบว่า ขาดการวิเคราะห์ความคุ้มค่า ผลลัพธ์หรือประโยชน์ชองโครงการที่คาดว่าจะได้รับ ทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง ที่ผู้รับผิดชอบไม่สามารถตอบความคุ้มค่าว่าจะคุ้มเมื่อไหร่ อย่างไร”

จากตัวอย่างจาก 14 โครงการ พบว่า ไม่ได้ดำเนินการบูรณาการพื้นที่เป้าหมายร่วมกัน เช่น โครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ไม่มีแผนที่จะน่าพื้นที่กลุ่มเป้าหมายของโครงการส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพในพื้นที่ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มาส่งเสริมให้เกิดความต่อเนื่องจนได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เป็นต้น

“13 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 92.86 ของโครงการที่ตรวจสอบ มีโครงการที่บรรลุวัตถุประสงค์ จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการเมืองสมุนไพรจังหวัดศรีสะเกษ แต่ยังกำหนดต้นทุนการผลิตยาแต่ละชนิดให้ สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและมูลค่าเพิ่มที่แท้จริงของโครงการ”

เฉพาะ “โครงการส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพในพื้นที่ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่” กว่า 30 กลุ่ม พบว่า พื้นที่การผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพดีไม่เพิ่มขึ้น และมีกลุ่มที่เก็บข้อมูลปริมาณข้าวเต็มเมล็ด จำนวน 4 กลุ่มเท่านั้น

นอกจากนี้ จาก 28 กลุ่ม พบว่า มีเพียง 3 กลุ่ม ที่มาตรฐานการผลิตข้าวหลังเข้าร่วม โครงการเพิ่มขึ้น หรือ คิดเป็นร้อยละ 10.71 และไม่มีมาตรฐานหลังเข้าร่วมโครงการ จำนวน 14 กลุ่ม คิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนกลุ่มเกษตรกรที่ตรวจสอบ และไม่สามารถวัดมูลค่าการจำหน่ายสินค้าข้าวหอมมะลิของกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการว่ามีมูลค่าไม่ตํ่ากว่า 1 ล้านบาท เนื่องจากผู้รับผิดขอบ โครงการไม่จัดเก็บข้อมูลก่อนและหลังดำเนินโครงการ

ขณะที่การตรวจสอบ โครงการที่ 3 ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี) ประเด็นการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่ได้มาตรฐานและปลอดภัยเป็นที่ยอมรับชองนักท่องเที่ยวในระดับสากล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2561จำนวน 12 โครงการ วงเงิน 164,412,200 บาท และเบิกจ่ายแล้ว 146,043,224.62 บาท

สามารถ สรุปได้ 3 ประเด็น คือ 1. ผลการดำเนินงานโครงการด้านการเพิ่มศักยภาพภาคการท่องเที่ยวและบริการส่วนใหญ่ไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ 2.การดำเนินงานบางกิจกรรมหรือบางโครงการมีความซํ้าซ้อน ไม่ประหยัด และไม่คุ้มค่า และ 3. การดำเนินโครงการบางส่วนไม่เป็นไปตามระเบียบ แนวทางและหนังลือ สั่งการที่เกี่ยวข้อง

ที่น่าสนใจ พบว่า สิ่งปลูกสร้างประเภทอาคารที่พัก อาคารเรียนปฏิบัติธรรม และห้องน้ำของ โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวัดคีรีล้อม หมู่ที่ 9 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560(งบเพิ่มเติม) งบฯ 16,200,000 บาท ยังไม่มีการใช้ประโยชน์ ปัจจุบันถูกทิ้งร้าง ขาดการดูแล บำรุงรักษา และบางส่วนเกิดรอยร้าว ชำรุดเสียหาย ทั้งที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จมานานกว่า 2 ปี

เช่นเดียวกับ สิ่งก่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมตลาดนครชุม งบ 3,816,942.42 บาท ยังไม่มี การใช้ประโยน์ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ทั้งที่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จมานานกว่า 3 ปี

รวมถึง โครงการส่งเสริมหมู่บ้านรัตลักษณ์ OTOP เพื่อการท่องเที่ยว ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 (งบเพิ่มเติม) งบประมาณ 33,515,600 บาท ผลการดำเนินโครงการบางกิจกรรมไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ที่ปัจจุบันสิ่งปลูกสร้างชำรุดทรุดโทรม ไม่สามารถใช้งานได้

สตง. ยังพบว่า โครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) กว่า 3 แห่ง มากกว่า 200 จุด เช่น กล้อง CCTV ที่ติดตั้งในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ จำนวน 218 จุด ในพื้นที่ 15 อำเภอ งบประมาณ 16,466,112 บาท โดยตำรวจภูธรนครสวรรค์ ได้ทำสัญญาเช่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตกับบริษัทผู้รับจ้างไว้ที่ 2 ปี และได้ครบกำหนดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 บริษัทจึงได้ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตท่าให้กล้อง CCTV ทั้งระบบและทุกจุดติดตั้งไม่สามารถใช้งานได้

“และปัจจุบัน ซึ่งผ่านมามากกว่า 1 ปี หน่วยงานยังไม่มีงบประมาณเพื่อนำไปใช้ในการเช่าสัญญาณให้กล้อง CCTV สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง และเมื่อสังเกตการณ์สภาพของกล้อง CCTV และอุปกรณ์ ในบางอำเภอ พบว่ากล้อง CCTV ที่ติดตั้งบนเสาไฟฟ้าบางส่วนชำรุดขาดการดูแลรักษา มีใบไม้ปกคลุม และบางส่วนได้ถูกถอดออกจากจุดติดตั้งเนื่องจากมีการปรับปรุงถนน”

เช่นเดียว กับกล้อง CCTV ที่ติดตั้งในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จำนวน 40 จุด ในพื้นที่ 15 อำเภอ จำนวนกล้องทั้งหมด 149 ตัว งบประมาณ 11,718,000.00 บาท พบว่ากล้อง CCTV จำนวน 69 ตัว คิดเป็นร้อยละ 46.31 ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากบางส่วนชำรุดเสียหาย บางส่วนถูกถอด ออกจากจุดติดตั้ง และบางส่วนไม่มีกระแสไฟฟ้าเชื่อมต่อให้สามารถใช้งานได้

สำหรับกล้อง CCTV ที่ สามารถใช้งานได้จำนวน 80 ตัว คิดเป็นร้อยละ 53.69 มีบางตัวที่แสดงภาพไม่ซัดเจน มุมกล้องหันไป ตำแหน่งที่ไม่ใช่ถนนหรือจุดเสี่ยง และบางตัวมีต้นไม้บังทำให้ใม่สามารถใช้เป็นหลักฐานในกรณีเกิดเหตุต่างๆ ได้

สตง.ยังระบุถึงผลผลิตของโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาวิจัยและประเมินผลของหลายจังหวัด ที่ใช้งบแห่งละกว่า 10 ล้านบาท ยังไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายอย่างแท้จริง หรือไม่ได้ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ในภารกิจของหน่วยงาน

เช่นเดียวกับ “กิจกรรมประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์” หลายจังหวัด ยังไม่สามารถใช้งาน และบางงานไม่สามารถปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน

ขณะที่การตรวจสอบการดำเนินงานบางกิจกรรมหรือบางโครงการมีความซํ้าซ้อน ไม่ประหยัด และไม่คุ้มค่า เช่น การฝึกอบรมที่คล้ายคลึงกัน ใช้จ่ายรวมเป็นเงิน งบประมาณจำนวน 3,455,590 บาท หรือการจัดงานแสดงสินค้าหรือการแนะนำแบรนด์การท่องเที่ยวของหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดเดียวกันโดยไม่มีการประสานความ ร่วมมือกัน รวมเป็นเงินงบประมาณจำนวน 14,409,331 บาท

ยังพบว่า มีการจัดทำป้ายบอกทาง การจัดท่าป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่ การจัดทำคู่มือการท่องเที่ยว การจัดทำแผ่นพับ การจัดทำ Application และการจัดทำวิดีทัศน์เพื่อประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ รวมเป็นเงิน งบประมาณจำนวน 36,849,655 บาท ที่อาจซ้ำซ้อนกับเป็นต้น

ล่าสุด สตง. มีหนังสือข้อสังเกตถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขทั้งหมดแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น