รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบยกเลิกพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และจัดตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ในภาคใต้ เอกชนยอมถอยหลังประกาศเป็นเขตอุทยานแห่ง อยู่เขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ อุดมสมบูรณ์
วันนี้ (28ก.ย.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบการยกเลิกพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และจัดตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ในภาคใต้ตามมติครม.เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2538 ซึ่งมติครม.ครั้งนั้นได้อนุมัติให้จำแนกพื้นที่แหล่งปูนซีเมนต์เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในเขตภาคใต้
โดยกำหนดพื้นที่ศักยภาพแหล่งหินปูนจำนวน 8 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สตูล สุราษฎร์ธานี และพังงา โดยได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง การให้สิทธิทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และจัดตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ในภาคใต้ พร้อมเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจร่วมลงทุนยื่นขอสิทธิทำเหมืองแร่ โดยผู้ที่ได้รับสิทธิทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมคือ บริษัทปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด(มหาชน)
อย่างไรก็ตามต่อมา กรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืชแจ้งว่า จะดำเนินการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ที่ทางบริษัทได้ยื่นคำขอประทานบัตรและจัดตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ไว้ ทางกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่จึงมีหนังสือถึงกรมอุทยานฯขอให้พิจารณากันเขตพื้นที่คำขอประทานบัตรและพื้นที่ที่บริษัทจะตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ออกจากพื้นที่ที่จะเตรียมประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ เนื่องจากเป็นพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมที่มีสัญญาผูกพันไว้กับภาคเอกชน
อย่างไรก็ตาม กรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้แจ้งว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีศักยภาพที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติได้ ขณะที่ราษฎรในพื้นที่ตำบลปากแพรกได้คัดค้านการขอประทานบัตร รวมทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลควนทอง ไม่เห็นด้วยที่จะมีการทำเหมืองแร่
ทั้งนี้ต่อมาบริษัทบริษัทปูนซีเมนต์เอเซีย จำกัด(มหาชน) ได้มีหนังสือแสดงความจำนงระบุว่า บริษัทไม่ขัดข้องที่จะให้ความร่วมมือโดยจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆจากการดำเนินโครงการตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน โดยขอคืนหนังสือค้ำประกันธนาคารที่ให้ไว้เพื่อเป็นการยุติสัญญาต่อกันโดยสมบูรณ์ โดยที่ทั้งภาครัฐและบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบในทางลบใดๆจากการยกเลิกสัญญานี้ โดยบริษัทยังไม่ได้เริ่มดำเนินการโครงการใดๆในพื้นที่ดังกล่าว