“ธนารักษ์” เรียกเคาะประมูลระบบท่อส่งน้ำภาคตะวันออกรอบใหม่ 28 ก.ย. ก่อนประกาศผล 30 ก.ย. หวั่นเร่งรีบเกินไปจนทำให้ถูกฟ้องร้อง ปูดประชุมนัดล่าสุดล่ม เหตุ กก.คัดเลือกบางรายขอลาออก หลังค้านเปลี่ยนมือเจ้าของสัมปทาน หวั่นกระทบภาคอุตสาหกรรมแต่ไร้ผล
วันนี้ (27 ก.ย.64) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความคืบหน้าในการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหาร ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ซึ่งมีการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหาร ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก โดยมี นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นประธานในการประชุม เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 64 ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าที่ประชุมได้ยกเลิกการคัดเลือกในวันดังกล่าวออกไปก่อน ทั้งๆ ที่สัญญาเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.66 และกรมธนารักษ์จะต้องดำเนินการเพื่อให้มีการคัดเลือกหาผู้เช่าหรือบริหารโครงการต่อไปก่อนที่สัญญาจะสิ้นสุดไม่น้อยกว่า 3 ปี
รายงานข่าวจากกรมธนารักษ์ว่า ล่าสุดได้มีการนัดประชุมคณะกรรมการคัดเลือกอีกครั้งในวันที่ 28 ก.ย.64 และจะประกาศผลบริษัทที่ได้รับการคัดเลือกครั้งนี้ทันทีในวันที่ 30 ก.ย.64 ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการเร่งรีบดำเนินการเกินไปหรือไม่ ซึ่งอาจจะทำให้ถูกบริษัทที่ไม่ได้รับการคัดเลือกนั้นยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้
สำหรับสาเหตุที่การประชุมคัดเลือกเมื่อวันที่ 13 ส.ค.64 ต้องเลื่อนออกไปก่อนนั้น รายงานข่าวแจ้งว่า เนื่องจากมีคณะกรรมการคัดเลือกบางรายได้แสดงความประสงค์ขอลาออก ภายหลังจากที่เกิดความเห็นต่างในเรื่องของบริษัทที่ควรได้รับการคัดเลือกในครั้งนี้ เนื่องจากคณะกรรมการส่วนหนึ่งมองว่า บริษัทเดิมที่ได้รับสัมปทานนั้นควรจะได้รับการต่อสัมปทานออกไป เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อภาคการผลิตของประเทศเป็นอย่างมาก หากมีการเปลี่ยนมือเจ้าของสัมปทาน อาจจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศได้ ขณะที่คณะกรรมการอีกส่วนหนึ่งมองว่า ควรให้บริษัทใหม่ได้รับสัมปทานในครั้งนี้ เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่น่าสนใจมากกว่า ท้ายที่สุดคณะกรรมการคัดเลือกจึงมีหนังสือแจ้งแก่บริษัทที่เข้าร่วมการคัดเลือกครั้งนี้โดยระบุว่า เนื่องจากมีความไม่ชัดเจนในการยื่นข้อเสนอบางประการ ประกอบกับคณะกรรมการคัดเลือกเห็นว่า หากให้มีการยื่นข้อเสนอใหม่โดยปรับปรุงประกาศเชิญชวน และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนให้ชัดเจน จะเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ และเป็นธรรมกับผู้ยื่นข้อเสนอทุกราย
เป็นที่น่าสังเกตุด้วยว่า มีบริษัทหลายรายที่มีความสามารถในการบริหารจัดการน้ำ อาทิ บริษัท WHAUP ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม WHA Group และเป็นผู้ให้บริการบำบัดน้ำเสียแก่ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ, บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด ผู้บริหารจัดการน้ำครบวงจร และบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี เป็นต้น แต่กลับไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการคัดเลือก โดยมีการเชิญบริษัทที่มีคุณสมบัติเพียง 3 รายเท่านั้น ให้มายื่นข้อเสนอเพื่อเข้าร่วมการคัดเลือกครั้งนี้.