รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.เห็นชอบกรอบแผนงาน/โครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
วันนี้ (21 ก.ย.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 ก.ย. 2564 ได้เห็นชอบกรอบแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เสนอ
ทั้งนี้ กรอบแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ จะเป็นแนวทางให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนงานหรือโครงการเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ใช้จ่ายงบประมาณตามบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท) แผนงาน/โครงการที่ 3 วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ลักษณะโครงการที่แต่ละหน่วยงานจะเสนอเข้ามามายัง สศช. เพื่อรวบรวมและเสนอต่อคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้นั้น จะต้องสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่สำนักนายกรัฐมนตรีกำหนด และเป็นโครงการที่สามารถดำเนินการได้ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2565 มีการยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และรายงานการดำเนินงานที่เปิดเผยต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง
สำหรับหลักการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้ พ.ร.ก. เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 คือ เพื่อรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการในสาขาที่ประเทศมีความได้เปรียบและมีศักยภาพในการพัฒนา และเพื่อกระตุ้นการบริโภค กระตุ้นการตลาด และรักษาอุปสงค์ให้กับภาคธุรกิจ
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายที่จะได้ประโยชน์จากการดำเนินแผนงานและโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จะครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น สถานประกอบการเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการทั่วไป แรงงานในระบบ ประชาชนทั่วไป เกษตรกร สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ว่างงานและวัยแรงงานที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน
สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับนั้น คาดว่า ผู้ประกอบการจะรักษาการจ้างงานไว้ได้ 390,000 ราย เกิดการยกระดับประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตและบริการ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดของผู้ประกอบการทั้งระดับชุมชนและเอสเอ็มอี รวมถึงสามารถพยุงระดับการบริโภคในประเทศเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19
ทั้งนี้ การใช้จ่ายงบประมาณตาม พ.ร.ก.กู้ 5 แสนล้านบาท มีการใช้จ่ายตามบัญชีแนบท้ายใน 3 แผนงาน/โครงการ คือ 1. แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาการระบาดเชื้อโควิด-19 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน วงเงิน 30,000 ล้านบาท 2. แผนงานที่มีวัตถุประสงค์ช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ วงเงิน 300,000 ล้านบาท 3. แผนงานเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 วงเงิน 170,000 ล้านบาท