สลค.เวียนมติ ครม. ขอยกเลิกพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ “จัดตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ในภาคใต้” ฉบับปี 2537 พื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช ภายหลังถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ เผยเอกชนเจ้าของสัญญาแจ้ง “ไม่ขัดข้อง” แถมไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากการดำเนินการโครงการตั้งแต่ต้นมาจนถึงปัจจุบัน
วันนี้ (9 ก.ย. 64) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียนหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 25 ส.ค. 2564
ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ขอยกเลิกพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และจัดตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ในภาคใต้ ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช ภายหลังถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ไม่ให้ขัดกับมติ ครม.4 มติ ครม.ในอดีต
โดยหนังสือดังกล่าว แจ้งผ่านกระทรวงมหาดไทย ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราช ให้ความเห็นกรณี มติ ครม.ยกเลิกการจำแนกพื้นที่แหล่งปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในเขตภาคใต้ ในการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสม นำพื้นที่ดังกล่าวไปลงทุนจัดตั้งโรรงานปูนซีเมนต์
ระบุตอนหนึ่งว่า เนื่องจาก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการเสนอร่างพระราชกำหนดพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ครอบคลุมพื้นที่แหล่งอุตสาหกรรม ที่บริษัทเอกชนได้รับสิทธิทำเหมืองแร่ซึ่งมีสัญญาผูกพันกับภาครัฐ จึงส่งผลกระทบต่อการทำเหมืองแร่ของบริษัทฯ
“ไม่สามารถกำหนดเป็นแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง ไม่สามารถอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ และจัดตั้งโรงงานปูนซีเมนต์ในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวได้”
สำหรับ แหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในเขตภาคใต้ ดังกล่าว ดำเนินการตามมติครม. (31 พ.ค. 2537) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแหล่งวัตถุดิบในระยะยาว ตามรายงานและแนวโน้มและทิศทางนโยบายอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์สู่ทศวรรษหน้าของสภาพัฒน์
โดยบริษัท ปูนซีเมนต์เอเชีย จำกัด (มหาชน) ได้รับเลือกได้รับสิทธิในการสร้างโรงงาน โดยมีการทำสัญญาเมื่อ มี.ค.2540 วงเงินค้ำประกัน ขณะนั้น 300 ล้านบาท โดยบริษัทคัดเลือกพื้นที่ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช และ อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี เนื้อที่ประมาณ 32 ตารางกิโลเมตร หรือ 2 หมื่นไร่
ยื่นขอประทานบัตรในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี 10 คำขอ จ.นครศรีธรรมราช 17 คำขอ ซึ่งพื้นที่ได้รับประทานบัตรอยูในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และ 1 บี (ตามมติ ครม. 7 พ.ย. 2532) ต่อมา กรมป่าไม้ (เดิม) แจ้งจะดำเนินการประกาศอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ครอบคลุมพื้นที่แหล่งหินปูนฯ ที่ยื่นขอจัดตั้งโรงงานฯ โดยขอให้กรมเหมืองแร่ฯ ในขณะนั้น พิจารณากันเขตพื้นที่คำขอประทานบัตรเนื่องจากเป็นพื้นที่ตามสัญญา
อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ค. 2561 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 2 แห่ง ได้แจ้งมติ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน และราษฎรในพื้นที่ อบต.ปากแพรก และ อบต.ควนทอง "มีมติไม่เห็นชอบ"ให้มีการทำเหมืองแร่ หรือสร้างโรงงานปูนซีเมนต์
ซึ่งต่อมาบริษัทฯ ในฐานะคู่สัญญา ได้แจ้งมายังกระทรวงอุตสาหกรรม “ไม่ขัดข้อง” ที่จะให้ความร่วมมือ โดยไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากการดำเนินการโครงการตั้งแต่ต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้คืนหนังสือค้ำประกันเพื่อเป็นการ “ยุติสัญญา” เมื่อ 16 พ.ค. 2561 และให้มีผลตามหนังสือของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ อก 0504/5603 ลงวันที่ 10 ส.ค. 2561.