นายกฯ ประชุม บอร์ดบีโอไอ ย้ำ รัฐบาลเร่งหาแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอี และภาคธุรกิจ ผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุน และการให้สิทธิพิเศษต่างๆ บรรเทาผลกระทบโควิด-19
วันนี้ (6 ก.ย.) เวลา 09.30 น. ณ ห้อง PMOC ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ครั้งที่ 3/2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้เร่งหาแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีและภาคธุรกิจผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุน และการให้สิทธิพิเศษต่างๆ ของบีโอไอ ที่จะต้องเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะไม่อาจคาดได้ว่าโควิด-19 จะอยู่ไปอีกถึงเมื่อไร โดยต้องทำทุกอย่างให้เกิดผลสัมฤทธิ์ เป็นรูปธรรม โปร่งใส เป็นธรรม ดำเนินการอย่างสุจริต สามารถตรวจสอบได้ทุกประการ ทุกหน่วยงานต้องบูรณาการการทำงานให้มีผลสัมฤทธิ์ ตามเป้าหมาย สิ่งที่ทำได้ขอให้ทำทันที ที่สำคัญ คือ การระวังไม่ทำให้คนตกงาน พร้อมหาแนวทางให้คนมาทำงานร่วมกับเครื่องจักรได้มากขึ้น เพื่อคนไทย มีอาชีพสุจริต มีความมั่นคง นายกรัฐมนตรีย้ำด้วยว่า เราต้องเดินหน้าประเทศไปด้วยกัน ทั้งการพัฒนาคน 4.0 อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งความคิดก็ต้อง 4.0 ด้วย หากยังปฏิบัติแบบเดิมๆ ก็จะเดินหน้าไปไม่ได้
ผลการประชุมบอร์ดบีโอไอที่สำคัญ
1. บอร์ดบีโอไอเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนและ/หรือยาในประเทศ ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ ดังนี้ 1) การผ่อนผันขยายเวลาดำเนินการให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล เช่น ISO 9002, CMMI หรือมาตรฐานอื่นที่เทียบเท่า 2) การผ่อนผันการขออนุญาตหยุดดำเนินกิจการชั่วคราวเป็นระยะเวลาเกินกว่า 2 เดือน
2. เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
3. อนุมัติปรับปรุงประเภทกิจการการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ รถสามล้อไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ และรถโดยสารไฟฟ้าและรถบรรทุกไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ และอนุมัติเปิดให้การส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตรถจักรยานไฟฟ้า (ELECTRIC BICYCLE/ E-BIKE)
นอกจากนี้ บอร์ดบีโอไออนุมัติการขอรับการส่งเสริม (ขยายกิจการ) ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำระบบ COGENERATION ของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 6,046 ล้านบาท (ไม่รวมที่ดินและทุนหมุนเวียน 5,568.0 ล้านบาท) เป็นหุ้นไทยทั้งสิ้น ที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง และรับทราบภาวะการส่งเสริมการลงทุนใน 6 เดือนแรกของปี 2564 จำนวนโครงการ เพิ่มขึ้น 14% การขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 801 โครงการ อยู่ในพื้นที่ EEC 232 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 29 ของโครงการทั้งหมด เงินลงทุน เพิ่มขึ้น 158% เงินลงทุนทั้งสิ้น 386,200 ล้านบาท อยู่ในพื้นที่ EEC 126,640 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 33 ของเงินลงทุนทั้งหมด