xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลสร้างโอกาสทองอุตสาหกรรมชีวภาพ สู่ศูนย์กลางอาเซียน คาดเอกชนลงทุน 1.5 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ (แฟ้มภาพ)
รองโฆษกสำนักนายกฯ เผย รัฐบาลเดินหน้าสร้างโอกาสทองอุตสาหกรรมชีวภาพ ผลักดันสู่ศูนย์กลางอาเซียน ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน คาด มีเอกชนลงทุนแตะ 1.5 แสนล้าน

วันนี้ (5 ก.ย.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยรัฐบาลเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีวภาพ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางแห่งอาเซียน มีผลิตภัณฑ์เป้าหมาย คือ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และ ชีวเภสัชภัณฑ์ สอดรับวาระแห่งชาติโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio -Circular -Green Economy) ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเสริมสร้างจุดแข็งของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ทั้งนีสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประมาณการว่า อุตสาหกรรมชีวภาพจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ค่าเฉลี่ยของตลาดโลกเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 13.8 ต่อปี (ช่วงปี 2558-2568)

จากรายงานความก้าวหน้าของมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ปี พ.ศ. 2561-2570 จัดทำโดยกระทรวงอุตสาหกรรม เสนอต่อครม.เมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศในการผลักดันให้เป็นผู้นำอุตสาหกรรมชีวภาพครบวงจรในอาเซียน (Bio Hub of ASEAN) เนื่องจากเป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่ประเทศในโลกที่มีศักยภาพด้านวัตถุดิบจากสินค้าเกษตร โดยเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลังและน้ำตาล อันดับต้นๆของโลก มีฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น กรดแลคติก สารให้ความหวาน และพลาสติกชีวภาพ และเป็นผู้นำการผลิตและการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในอาเซียน ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ข้อมูลว่า หากภาคเอกชนสามารถดำเนินโครงการต่างๆได้ตามแผน จะเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 1.49 แสนล้านบาท ช่วยหนุน GDP ของประเทศให้โตเพิ่มขึ้น และยังก่อให้เกิดประโยชน์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม สร้างงาน สร้างรายได้แก่เกษตรกรและแรงงานในหลายพื้นที่อีกด้วย ซึ่งเบื้องต้น ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายไว้ คือ เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ภาคอีสานตอนกลาง (Bio- Northeast) และภาคเหนือตอนล่าง (Bio-North) อย่างไรก็ตาม แผนการก่อสร้างโรงงานของภาคเอกชนมีบางส่วนถูกกระทบเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็ยังมีการลงทุนหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อน อาทิ 1) โครงการผลิตพอลิเมอร์ชีวภาพชนิดโพลีแลคติค แอซิด ที่ จ.นครสวรรค์ 2) โครงการไบโอ ฮับ เอเซีย จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีนักลงทุนหลายรายจากต่างประเทศที่สนใจร่วมลงทุนในโครงการ เช่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมนี สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส 3) โครงการลพบุรีไบโอคอมเพล็กซ์ จ. ลพบุรี อยู่ระหว่างออกแบบโครงการและเจรจากับนักลงทุนที่สนใจ

นางสาวรัชดา กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้กำหนดสิทธิประโยชน์การยกเว้นภาษีเงินได้ นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8-13 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทกิจการและคุณค่าของโครงการ รวมถึงสิทธิและประโยชน์ อื่น ๆ อาทิ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าของท่ีนำเข้ามาใช้ในการวิจัยและพัฒนา ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้สร้างแรงจูงใจเพื่อเพิ่มความต้องการการใช้พลาสติกย่อยสลายทางชีวภาพ โดย สศอ.ได้ออกใบรับรองผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่ผ่านหลักเกณฑ์แก่ผู้ผลิต สามารถใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวน 1.25 เท่าของค่าใช้จ่ายที่ซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ รวมทั้ง สศอ. และ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาขยายระยะเวลามาตรการกระตุ้นการใช้พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Green Tax Expense) ออกไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งมาตรการนี้จะจูงใจให้ร้านค้าเปลี่ยนมาใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ปีละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดสิ้นเปลืองทั้งหมด ได้แก่ ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ แก้วพลาสติก ช้อนส้อมมีดพลาสติก หลอดพลาสติก และภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

“อุตสาหกรรมชีวภาพถือเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการผลิต จากการเป็นแหล่งวัตถุดิบทางชีวภาพที่หลากหลาย นำมาแปรรูปด้วยเทคโนโลยี ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าเกษตรได้หลายเท่า หรืออาจมากเกินร้อยเท่า อุตสาหกรรมนี้กำลังเติบโตตามแนวโน้มความต้องการของตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในภาคการเกษตรที่เชื่อมโยงสู่ภาคอุตสาหกรรม เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้แก่เกษตรกรไทย และเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในระยะต่อไป” นางสาวรัชดา กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น