รองโฆษกรัฐบาล เผย ครม.รับทราบรายงานผลการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) พบดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ 48 ฉบับ ให้หน่วยงานเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบเพื่อใช้บริการแบบ e-Service
วันนี้ (30 ส.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานผลการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) พร้อมเห็นชอบมาตรการเร่งรัดให้หน่วยงานสื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในการใช้บริการ e-Service และแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบ ตามที่ ก.พ.ร.รายงานสถานะความก้าวหน้า ณ เดือนมิถุนายน 2564
ทั้งนี้ ก.พ.ร. ระบุว่า ภายหลังจากที่ ครม.เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 มีมติเห็นชอบแนวทางการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัดและเป็นอุปสรรคในการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) และให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามแนวทางที่สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอ ซึ่ง ก.พ.ร.ได้ดำเนินการตามมติ ครม.แล้ว โดยแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบจำนวน 84 ฉบับ ซึ่งมีความก้าวหน้าดังนี้
กฎหมายและกฎระเบียบที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 จำนวน 23 ฉบับ สามารถดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จรวม 19 ฉบับ อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 4 ฉบับ และมีหน่วยงานที่สามารถดำเนินการแก้ไขกฎหมายเสร็จก่อนเวลาที่กำหนด 6 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, กรมสรรพสามิต, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กรมประชาสัมพันธ์, กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม
สำหรับกฎหมายและกฎระเบียบในภาพรวมทั้ง 84 ฉบับ สามารถแยกออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มที่ดำเนินการเสร็จแล้วจำนวน 48 ฉบับ, กลุ่มที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งได้จัดรับฟังความคิดเห็นหรือทบทวนแก้ไขเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างเสนอผู้มีอำนาจตามกฎหมายพิจารณาจำนวน 12 ฉบับ และกลุ่มที่อยู่ระหว่างรวบรวมปัญหาและอุปสรรค หรือรับฟังความคิดเห็นเพื่อทบทวนแก้ไขจำนวน 24 ฉบับ
อย่างไรก็ตาม ก.พ.ร.เห็นควรกำหนดมาตรการให้หน่วยงานเร่งดำเนินการดังนี้
1. ให้หน่วยงานที่แก้ไขกฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้ว เร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในการใช้บริการ e-Service ของหน่วยงาน
2. กลุ่มที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ให้เร่งดำเนินการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และให้สำนักงาน ก.พ.ร.ติดตามการดำเนินการของหน่วยงานเป็นระยะ และ
3. กลุ่มที่อยู่ระหว่างรวบรวมปัญหาและอุปสรรค ให้เร่งดำเนินการทบทวนเพื่อแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค โดยรวบรวมประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ ประเด็นที่ต้องการขอรับการสนับสนุน หรือคำปรึกษาจากสำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำแผนและระยะเวลาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในการแก้ไขกฎหมายและให้สำนักงาน ก.พ.ร.ติดตามการดำเนินการของหน่วยงานให้เป็นไปตามแผน