นบข. เห็นชอบมาตรการคู่ขนาน โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 นายกฯ ย้ำให้ใช้จ่ายงบประมาณให้คุ้มค่าเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างแท้จริง
วันนี้ (23 ส.ค.) เวลา 09.30 น. ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2564 (ผ่านระบบ Video Conference) โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อติดตามสถานการณ์ข้าวโลก ข้าวไทย ความต้องการใช้ข้าวปี 2564/65 ความคืบหน้าผลการดำเนินมาตรการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและมาตรการคู่ขนาน ปี 2563/64 เป็นต้น ทั้งนี้ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนและเกษตรกร จึงขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันดูแลเกษตรกรและประชาชนให้ดีที่สุด โดยใช้งบประมาณที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังแสดงความห่วงใยต่อปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทย เช่น การแข่งขันกับต่างประเทศที่มีราคาข้าวถูกกว่าของไทย การขาดแคลนตู้สินค้า ค่าระวางเรือที่สูง โรงสีขาดสภาพคล่อง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นต้น แม้ผู้ส่งออกจะได้รับผลดีในเรื่องของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าถึงร้อยละ 8 จึงอยากให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลก รวมถึงการบริหารจัดการตู้สินค้าสำหรับข้าวให้เพียงพอ นายกรัฐมนตรียังเสนอแนะแนวทางช่วยเหลือชาวนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ทำนาได้ปีละครั้ง โดยให้หันมาปลูกพืชอื่นควบคู่การปลูกข้าวให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และปริมาณน้ำ เพื่อให้เกษตรกรและประชาชนสามารถมีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้นในการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวแทนการเข้ามาหางานทำในเมืองด้วย
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการมาตรการคู่ขนาน โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือแนวทางการจัดสรรงบประมาณพร้อมจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจนเพื่อนำเสนอครม. พิจารณาต่อไป ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำให้ใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินโครงการต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพและคุ้มค่าต่อประชาชนเกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง
ที่ประชุมยังเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจรในระยะที่ 2 (ปี 2565-2568) โดยกระทรวงพาณิชย์ และ ธ.ก.ส. ร่วมเป็นหน่วยงานร่วมดำเนินการ และให้กระทรวงพาณิชย์ ร่วมดำเนินการประชาสัมพันธ์และการตลาดข้าวอินทรีย์และข้าว GAP รวมทั้งเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์ จัดสรรโควตาร้อยละ 10 ของโควตาการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป (EU) จำนวน 1,700 ตันต่อปี สำหรับจัดสรรให้เฉพาะผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ให้กับกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร ที่ดำเนินโครงการ ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะได้รับคาดว่า คือ เกษตรกรมีตลาดรองรับผลผลิตข้าวคุณภาพที่แน่นอนไม่น้อยกว่า 30,000 ครัวเรือน มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 350 ล้านบาท (ข้าว GAP เพิ่มขึ้นตันละ 500 บาท ข้าวอินทรีย์เพิ่มขึ้นตันละ 2,000 บาท) รวมถึงขยายพื้นที่การผลิตข้าวคุณภาพที่ได้รับการรับรองมาตรฐานข้าวอินทรีย์และข้าว GAP อย่างน้อย 700,000 ไร่ นอกจากนี้ เกษตรกรและผู้บริโภคยังมีสุขภาพที่ดีขึ้น ลดการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรและสารตกค้างในสิ่งแวดล้อมอีกด้วย