รมว.แรงงาน สั่งสำรวจความต้องการแรงงานต่างด้าวจากนายจ้าง/สถานประกอบการ พบต้องการแรงงาน 424,703 คน เตรียมนำเข้า MoU หลังโควิดคลี่คลาย
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ที่มีแนวโน้มว่าจะอยู่ต่อเนื่องไปอีกช่วงระยะหนึ่ง รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน มีมาตราการดำเนินการทั้งในส่วนของการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 และการบริหารจัดการแรงานต่างด้าวที่ยังคงอยู่ในประเทศ โดยการสำรวจความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ ของนายจ้าง/สถานประกอบการ เพื่อทราบจำนวน ประเภทกิจการที่นายจ้างมีความต้องการ เพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน และเตรียมการเพื่อนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานตาม MoU เมื่อทั้ง 3 ประเทศ และประเทศไทยมีความพร้อมหรือสถานการณ์โควิด -19 คลี่คลาย
“จากผลการสำรวจเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่านายจ้าง/สถานประกอบการ มีความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว จำนวน 424,703 คน แบ่งเป็น สัญชาติเมียนมา 256,029 คน สัญชาติกับพูชา130,138 คน และสัญชาติลาว 38,536 คน ประเภทกิจการที่มีความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ เกษตรและปศุสัตว์ ก่อสร้าง การให้บริการต่างๆ ต่อเนื่องการเกษตร และผลิตหรือจำหน่ายเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยจังหวัดที่มีความต้องการจ้างแรงงานต่างต้าวมากที่สุด 5 อันดับแรก คือจังหวัดเชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดจันทบุรี จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดระยอง ตามลำดับ” รมว.แรงงานกล่าว
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจต่างๆ ของประเทศไทยทั้งในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ และภายหลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด – 19 คลี่คลาย ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา เราจำเป็นต้องชะลอการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศตาม MoU และดำเนินการให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทย สามารถอยู่และทำงานได้ต่อไปตามแนวทางการบริหารจัดการแรงงาน 3 สัญชาติ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการ และสนับสนุนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด โดยให้ความสำคัญกับสุขภาพและชีวิตของประชาชนในประเทศเป็นอันดับแรก
อย่างไรก็ดี กรมการจัดหางานได้สำรวจความต้องการแรงงานต่างด้าวเพื่อเป็นข้อมูลและเตรียมความพร้อม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางที่เหมาะสมที่จะนำคนต่างด้าวกลุ่ม Unskilled Labour เข้ามาทำงานตาม MoU ต่อไป ในส่วนของแรงงานฝีมือ (Skilled Labour) ปัจจุบันได้มีการพิจารณาอนุญาตให้ทำงาน โดยที่นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) อย่างเคร่งครัด