xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ลั่นไม่อยากเห็นภาพ รพ.ไม่รับผู้ป่วย เกาะติดวัคซีน ChulaCov-19 พร้อมปรับกติกาให้เร็วขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ประยุทธ์” ตรวจเยี่ยมระบบ Home isolation ที่จุฬาฯ ลั่นไม่อยากเห็นภาพโรงพยาบาลเทผู้ป่วย ย้ำแจงขั้นตอนประชาชนให้ชัดเจน พร้อมติดตามความคืบหน้าวัคซีน ChulaCov-19 รับปากพร้อมปรับกติกาให้เร็วขึ้น

วันนี้ (19 ส.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ร่วมลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมระบบการดูแลและติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบการแยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation (HI) และผู้ป่วยที่ดูแลที่บ้านผ่านระบบ TeleHealth และการพัฒนาวัคซีน ChulaCov-19 (ชนิด mRNA) ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยมี นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นพ.สิริฤกษ์ ทรงวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผอ.บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิค-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้บริหาร อว. ผู้บริหารสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้การต้อนรับ
โดยทันทีที่นายกรัฐมนตรี ได้ทักทายผู้บริหารที่มาต้อนรับว่า ขอให้ช่วยกันทำงาน รวมทั้ง มท.นย.คือ นายกฯด้วยต้องช่วยกันเต็มที่ จากนั้น นายกฯชมนิทรรศการอาหารที่ดี อาหารที่เสี่ยงของผู้สูงวัย ที่โรงพยาบาลจัดแสดง โดยนายกฯอยากให้จัดในรูปแบบสามารถกดเข้าไปดูรายละเอียดได้ เพื่อจะได้รู้ว่าเราต้องดูแลสุขภาพอย่างไร ซึ่งเราต้องให้การเรียนรู้เขาไปมากๆ

จากนั้น นายกรัฐมนตรีรับฟังบรรยาสรุประบบการดูแลและการติดตามผู้ป่วยโควิด-19 ในระบบการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation และผู้ป่วยที่ดูแลที่บ้านผ่านระบบ TeleHealth ในปัจจุบันเรามีคนไข้ที่ดูแลอยู่ 800-900 คนต่อวัน โดย 300 คนรักษาตัวในโรงพยาบาล อีก 500 คนรักษาตัวใน Hospitel ซึ่งช่วง 2 อาทิตย์ก่อนหน้านี้ มีผู้ป่วยที่อาการแย่เป็นคนไข้ฉุกเฉินมารอรักษาถึง 20-30 รายต่อวัน ผู้บริหารจึงมีนโยบายที่จะดำเนินการระบบสาธารณสุข โดยผู้ป่วยที่เป็นระบบสีเขียวจะให้กักตัวอยู่ที่บ้าน HI ส่วนคนไข้ระดับสีเหลืองและสีแดง ทางโรงพยาบาลได้ต่อขยาย โดยการใช้ลานจอดรถเป็นหอผู้ป่วยวิกฤต โดยจะสามารถผู้ป่วยสีเหลืองได้ 60 กว่าคน ผู้ป่วยสีแดง 40 กว่าคน ทั้งนี้ สำหรับการกักตัวผู้ป่วยสีเขียวที่บ้าน มีระยะทางจาก 5 กิโลเมตร เป็น 10 กิโลเมตร สำหรับผู้ป่วยที่กักตัวที่บ้านแต่ละวันทีมแพทย์จะโทร.ไปสอบผู้ป่วยรายนั้นๆ สามารถกักตัวที่บ้านได้อย่างปลอดภัย โดยที่จะไม่มีการกระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้หรือไม่ หากผู้ป่วยสามารถทำได้จะเชื่อมต่อระบบทางไลน์กับโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลจะเพิ่มผู้ป่วยในแพลตฟอร์ม “”กินอยู่ดี” โดยจะให้ผู้ป่วยป้อนข้อมูลทั้งอาการ การรับประทานอาหารในแต่ละวันเข้ามา ทางทีมแพทย์จะดูว่าผู้ป่วยรายนั้นๆ มีปัญหาอะไรหรือไม่ หากผู้ป่วยมีปัญหาอาการไม่ดีทางโรงพยายาลติดต่อผ่านระบบไลน์ หรือวิดีโอคอล ซึ่งระบบนี้จะทำให้หมอ 1 คนดูแลผู้ป่วยได้ถึง 100 คน ทั้งนี้ จะมีการเตรียมยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้ผู้ป่วยด้วย โดยทำตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เป็นมาตรการฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ในการมีการระบบ HI ส่วนไหนที่มีการแพร่ระบาดหนักจะเป็นระบบ Bubble and Seal ซึ่งในระบบ HI จะช่วยลดความแออัด

“ผมไม่อยากเห็นภาพผู้ป่วยไปโรงพยาบาลไหนเขาก็ไม่รับ หากโรงพยาบาลไหนรับไม่ได้ ก็ต้องพูดเหตุผลกับประชาชนด้วยว่าเป็นเพราะอะไร ผมก็อยากรู้มีโรงพยาบาลไหนไม่รับผู้ป่วย จะไม่รับอะไรเลยมันไม่ได้ จะต้องหาทางไปให้ได้ ไม่ว่าจะไปอยู่หน่วยคัดกรอง หน่วยแรกรับ หรือโรงพยาบาลสนามก็ว่ากันไป”

เมื่อถึงตอนนี้ นายสาธิต รีบกล่าวชี้แจงว่า ขณะนี้ดีขึ้นแล้ว โดยก่อนหน้านี้ถ้าเข้าตรวจโรงพยาบาลไหน โรงพยาบาลนั้นต้องรักษา นายกรัฐมนตรีจึงหันไปถามแพทย์ว่า ตอนนี้ตัวเลขนิ่งและผู้รักษาหายเพิ่มมากขึ้นแล้วใช่หรือไม่ โดยแพทย์รายงานว่า ใช่ สังเกตได้จากห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลจุฬาฯ ที่แต่ก่อนแน่นมาก ตอนนี้เบาลง นายกฯจึงกล่าวว่า ขอบคุณ ขอบคุณมากมาย แม้จะมีปัญหาอยู่บ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้มอบถุงยังชีพ หรือกล่อง อว.พารอด ที่มีอุปกรณ์การแพทย์ที่จะส่งให้ผู้ป่วยที่กักตัวที่บ้านและชุมชน โดยนายกฯได้ลองใช้เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว จากนั้นหันไปถามแพทย์ตัวเลขพอใจไหม ใช้ได้ไหม ก่อนยิ้ม และกล่าวว่า “หัวใจผมเต้นแรงไปหน่อย” จากนั้น ทดลองพูดคุยสอบถามให้กำลังใจกับผู้ป่วยที่รักษาที่บ้านผ่านระบบ TeleHealth โดยสอบถามว่า อาการไข้เป็นยังไงบ้าง เป็นมากี่วันแล้ว ดีขึ้นหรือยัง ซึ่งทางผู้ป่วยตอบว่า เป็นมา 3 วันแล้ว อาการดีขึ้นแล้ว นายกฯกล่าวว่า เดี๋ยวก็ดีขึ้น เพราะภูมิต้านทานเรายังดีอยู่ เพราะเป็นวัยรุ่น พอใจรักษาแบบนี้ใช่หรือไม่ เราต้องทำแบบนี้ ต้องมีการพัฒนากันทั้งระบบ แล้วระบบสาธารณสุขของไทยจะดีขึ้นมากในวันข้างหน้า แต่วันนี้รักษาตัวเองให้ดีก่อน
จากนั้น คณะแพทย์ได้บรรยายความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีน ChulaCov-19 โดย นพ.เกียรติ ระบุว่า ขอบคุณรัฐบาลที่ให้ทุนสนับสนุนผ่านทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติและสภากาชาดไทย ที่ทำให้ได้เทคโนโลยีนี้มาเพื่อเข้าสู่ประเทศที่ยากจน และมีข้อจำกัด ทั้งนี้ วัคซีนนี้จะกระตุ้นภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ในเลือดได้สูงเทียบเท่าวัคซีนไฟเซอร์ และสามารถยับยั้งสายพันธุ์ดั้งเดิมได้ดี และสามารถยับยั้นเชื้อข้ามสายพันธุ์ได้ถึง 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา รวมถึงภูมิคุ้มกันชนิดที-เซลล์ วันนี้ประเทศไทยมีวัคซีน 4 ตัว แต่จะทำอย่างไรขึ้นทะเบียน และขณะนี้เตรียมพัฒนาวัคซีนรุ่น 2 ไว้แล้ว โดยจะใช้เวลาในการผลิต 6 เดือน ดังนั้น ไม่ว่าจะระบาดรอบไหน ไทยก็จะสามารถรับมือได้ ครั้งนี้ทดสอบแล้วว่าวัคซีนสามารถเก็บไว้ได้ 3 เดือน ในอุณหภูมิติดลบ 2 ถึง 8 องศา แต่หากอยู่ในอุณหภูมิห้อง เก็บได้ถึง 2 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับวัคซีนไฟเซอร์ที่สามารถเก็บได้เพียง 28 วัน แล้ว

“ขณะนี้ไทยมีวัคซีน 4 ยี่ห้อที่ดี แต่จะทำอย่างไรให้วัคซีนไทยนั้นได้ขึ้นทะเบียนรับรอง และสามารถใช้ได้จริงก่อนสงกรานต์ปีหน้า หรือเดือน เม.ย. 65 ซึ่งถ้าจะทำให้ดีต้องมีกองทุนอย่างน้อย 3,000 ล้านบาท ต่อ 1 วัคซีนกองเอาไว้ และต้องบริหารข้ามระบบราชการ องค์การอาหารและยา (อย.) ไทยต้องให้มีกติกาชัดเจนในเดือน ก.ย. 64 เพื่อจะได้รู้ว่าต้องผ่านด่านอะไรบ้าง ทั้งนี้ อย.ต้องมีกติกาชัดเจนให้ได้เดือน ก.ย.นี้ ถ้ากติกาไม่ชัดไม่อย่างนั้น 4 วัคซีนไทย จะไม่สามารถมีวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนใช้ได้ทันปี 65 และโรงงานต้องเร่งผลิต รวมถึงต้องมีนโยบายการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า ซึ่งนโยบาย 3,000 พันล้านขึ้นอยู่กับอย.ถ้าอย.มีนโยบายเหมือนไต้หวัน โดยการขึ้นทะเบียนใช้อาสาสมัคร 4,000-5,000 คน และเทียบกับไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งไต้หวันทำไป 1 ตัวแล้วโดยเทียบกับไฟเซอร์และแอสตร้าเซนเนก้า โดยให้ผลดีเท่ากับแอสตร้าเซนเนก้าก็ขึ้นทะเบียนได้เลย เราก็ต้องใช้ 600 ล้านบาท แต่หากเต็มสูตรก็จะอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท รวมถึงงบฯบจัดซื้อวัตถุดิบด้วย ขณะที่ทีมแพทย์อยากให้ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาดูด้วยกัน เช่น ตัวแทนจาก WHO และตัวแทนจาก อย.อังกฤษ ยินดีจะมาช่วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ได้ติดตามความก้าวหน้า และอยากให้พัฒนาให้ดีที่สุด ทราบว่า จะเป็นปี 65 จะสามารถนำไปสู่การผลิตได้ และวัคซีน 4 ตัวจะมาเสริมวัคซีนหลัก ถ้าวันหน้าวัคซีนหลักมีปัญหาเราก็มาปรับมาใช้วัคซีนเสริม วันนี้งบฯเราให้ 400 ล้านบาท ตนก็ไม่ได้อะไรตรงนี้ แต่ขอให้มีผลสำเร็จที่สามารถตัดสินใจได้ ซึ่งตนยินดี รวมถึงจะต้องมีการเตรียมโรงงาน ส่วนกติกานั้นที่จะต้องมีการปรับ ก็ต้องไปหารือกับ อย. เป็นหมอด้วยกันต้องคุยกันได้ วันนี้เราต้องพัฒนาวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลจะรับไป อยากจะบอกว่า ไม่ทำตามระบบราชการมันคงเป็นไปไม่ได้ มันต้องทำแต่จะทำอย่างไรให้เร็วขึ้น เรื่องของงบประมาณรัฐบาลต้องรับผิดชอบในการชี้แจง ทุกอย่างต้องมีกติกา และต้องระวังให้ตนด้วย ซึ่งตนก็ตั้งใจทำให้ดีที่สุดก็ขอบคุณมากๆยอดเยี่ยม

ต่อมาเวลา 11.30 น. นายกฯและคณะ เดินทางไปยังอาคารจุฬาพัฒน์ 14 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อตรวจเยี่ยมการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยและการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโดยใช้เซลล์พืชเป็นแหล่งผลิต (วัคซีนใบยา) ของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด โดยนายกรัฐมนตรีสอบถามถึงพันธ์ุใบยาต่างๆ ว่ามาจากไหน เพราะคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าเป็นพันธุ์ไทย คณะแพทย์ อธิบายว่า เป็นใบยาพันธ์ุออสเตรเลีย เพราะพันธุ์ใบยาไทยมีนิโคตินสูง ไม่สามารถนำมาทำยาและวัคซีนได้ ซึ่งได้นำเมล็ดมาเพาะปลูกต่อด้วย จึงไม่จำเป็นต้องซื้ออะไรเพิ่มอีก โดยหนึ่งต้นได้กว่า 1 พันเมล็ด ใบยานี้ใช้ทำวัคซีนและยารักษามะเร็งได้ด้วย และภายในห้องทดลองนี้สามารถปลูกวัคซีนได้ 1-5 ล้านโดสต่อเดือน จากนั้น นายกรัฐมนตรีร่วมถ่ายภาพกับคณะ พร้อมกล่าวว่า “นี้คือความภูมิใจของประเทศไทย”




















กำลังโหลดความคิดเห็น