วันนี้ ( 19 ส.ค.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการมนุษย์และชีวมณฑลของคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ครั้งที่ 1/2564 ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีวาระสำคัญของการหารือถึงความพร้อมในการนำเสนอพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว จ.ภูเก็ต ให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล ต่อจากดอยหลวงเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่ล่าสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาของ UNESCO
นายจตุพร บ กล่าวว่า พื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว จ.ภูเก็ต เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นถึงความสามารถในการยกระดับให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่มีความสำคัญระดับโลกได้อีกแห่งหนึ่ง โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีพื้นที่สงวนชีวมณฑล อยู่ทั้งสิ้น 4 แห่ง ได้แก่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช จ.นครราชสีมา พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสัก-ห้วยทาก จ.ลำปาง พื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จ.เชียงใหม่ และ พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง จ.ระนอง ขณะที่ ดอยหลวงเชียงดาว จ.เชียงใหม่ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาจาก UNESCO ซึ่ง “พื้นที่สงวนชีวมณฑล” นับเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศบนบก ทะเล หรือชายฝั่งทะเล ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ภายใต้โครงการมนุษย์และชีวมณฑลขององค์การยูเนสโก ที่มีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ และระบบนิเวศ ที่สามารถส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน
สำหรับ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาพระแทว จ.ภูเก็ต มีการประกาศจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2523 ครอบคลุมพื้นที่ ต.เทพกระษัตรี ต.ศรีสุนทร ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต มีเนื้อที่รวม 13,925 ไร่ มีลักษณะเป็นป่าดงดิบชื้นเขตศูนย์สูตร มีสัตว์ป่ากว่า 100 ชนิด มีพันธุ์พืชเฉพาะถิ่นที่หายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ได้แก่ ปาล์มหลังขาว หรือปาล์มเจ้าเมืองถลาง รวมถึงมีการจัดแบ่งพื้นที่เพื่อการบริหารจัดการออกเป็น พื้นที่แกนกลาง (Core area) เขตกันชน (Buffer zone) และพื้นที่รอบนอก (Transition area) เพื่อทำกิจกรรมเชิงอนุรักษ์ร่วมกับชุมชนโดยรอบมาอย่างต่อเนื่อง ตรงตามหลักเกณฑ์ของพื้นที่สงวนชีวมณฑล
โดยหลักเกณฑ์ของการคัดเลือกพื้นที่สงวนชีวมณฑลโลก (Statutory Framework of World Network of Biosphere Reserve Network) จะประกอบไปด้วยคุณสมบัติ 7 ข้อ ได้แก่ 1.เป็นพื้นที่ที่ครอบคลุมภาพของตัวแทนระบบนิเวศของภูมิภาคตามชีวภูมิศาสตร์หลัก และมีพื้นที่ที่ปรากฏกิจกรรมของมนุษย์รวมอยู่ด้วย 2.เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ 3. เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้มีการค้นหาและสาธิตวิธีการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาค 4. มีขนาดเหมาะสมต่อการบริการหน้าที่ทั้ง 3 ด้าน ของพื้นที่สงวนชีวมณฑล ได้แก่ การอนุรักษ์ การพัฒนา และ โลจิสติกส์ของการถ่ายทอดองค์ความรู้ 5.ควรประกอบด้วยพื้นที่ 3 ส่วน ได้แก่ 1) พื้นที่แกนกลางที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายหรือมีวัตถุประสงค์ชัดเจนเพื่อการอนุรักษ์ในระยะยาวและมีขนาดเหมาะสม 2) เขตกันชน ซึ่งกิจกรรมที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับการอนุรักษ์เท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้ 3) พื้นที่รอบนอก ที่มีการส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน 6.การจัดการโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหน่วยงานสาธารณะ ชุมชนท้องถิ่น และเอกชนที่เหมาะสม และ 7.พื้นที่ควรมีการพัฒนาเครื่องมือในการบริหารพื้นที่ ได้แก่ กลไกในการจัดการการใช้ประโยชน์และการทำกิจกรรมของมนุษย์ในเขตกันชน การจัดการเชิงนโยบายและแผน สำหรับพื้นที่สงวนชีวมณฑล หน่วยงานที่ได้รับแต่งตั้งที่ได้รับจัดตั้ง หรือกลไกในการดำเนินการตามนโยบายและแผนโครงการศึกษาวิจัย ติดตาม ให้การศึกษาและฝึกอบรม
“ผมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดทำรูปเล่มรายละเอียดของข้อมูล พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากชุมชนโดยรอบให้ถูกต้องครบถ้วน เพื่อนำรายละเอียดเสนอเข้าที่ประชุมให้คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาอีกครั้งภายใน 6 เดือนต่อจากนี้” นายจตุพร กล่าว