ข่าวปนคน คนปนข่าว
**จากกองหนุนมาเป็นกองหน้า งานนี้ ป้า “เสรี วงษ์มณฑา” จะได้รู้ซึ้งฤทธิ์เดช “ลุง Single command”นั้น เป็นยังไง!
ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ เมื่อวาน (16 ส.ค.) โดย “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นั่งคอนเฟอเรนซ์ เคาะให้ความเห็นชอบ ตั้งศูนย์บริหารสื่อสารในภาวะวิกฤต โดยให้ “เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าศูนย์ฯ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นเลขานุการ พร้อมๆ กับตั้ง “เสรี วงษ์มณฑา” และ “เกษมสันต์ วีระกุล” สองนักสื่อสาร-ประชาสัมพันธ์ “รุ่นเดอะ” รุ่นป้า รุ่นลุง เข้ามาเป็น “บก.บห.” บรรณาธิการบริหาร เพื่อวางกลยุทธ์สื่อสารของ ศบค.
มองในเชิงกลยุทธ์ก็ต้องบอกว่า ลุงตั้ง “เสรี” และ “เกษมสันต์” ครานี้ ทางหนึ่งคือ การแก้เกมการข่าวที่ลุงมองว่า ศบค.เพลี่ยงพล้ำทุกประตู แถมต้องตั้งรับกับข่าวบิดเบือน Fake News ที่ทำให้ปวดเศียรเวียนเกล้า หาทางแก้ไม่ทันท่วงทีอีกต่างหาก
อีกทางหนึ่งก็หมายมั่นปั้นมือ จะใช้ประสบการณ์ล้นเหลือของทั้ง “เสรี และ เกษมสันต์” เปิดเกมรุกด้านสื่อสารบ้าง เพราะต้องยอมรับว่า ศบค. ต้องรีบเข็น “ผลงาน” ออกมาให้สังคมเห็น หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ล้มเหลว” และในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน แน่นอนว่า จะเป็นประเด็นหลักถูกขยี้ขยำแผลที่ ศบค.ก่อไว้ชุดใหญ่แน่ๆ ทั้งมาตรการควบคุมและป้องกัน การจัดหาและกระจายวัคซีน ยา เวชภัณฑ์ มาตรการช่วยเหลือเยียวยา มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
เรียกว่า ลุงนั่งดีดนิ้วเคาะรางแก้วแล้ว จังหวะนี้เหมาะเจาะ จำเป็นต้องมี ทีมมาบริหารจัดการกลยุทธ์ การสื่อสารในยามวิกฤต
ถามว่า ทำไมลุงถึงเห็นชอบ “เสรี และ เกษมสันต์” ฝากฝีฝากไข้กับสองคนนี้ ก็คงไม่ใช่เรื่องประสบการณ์เพียงอย่างเดียว เพราะรู้ๆ กันว่า “เสรี” นั้นเป็น FC ตัวแม่ เป็นกองหนุนของลุงมาตั้งแต่เป็น คสช. จนมาถึงเป็นรัฐบาลลุงตู่ ในปัจจุบัน
จะเห็นว่า “เสรี” เป็นกองหนุนที่ออกมา ปะ ฉะ ดะ แทนลุงอยู่เนืองๆ ทั้งโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย และ ผ่านรายการของตัวเอง ที่วันนี้ก็มีจัดรายการร่วมกับช่องทีวีเชียร์ลุง ก็ยังเป็นกระบอกเสียงเชียร์ลุงมาไม่ขาด
ขณะที่ “เกษมสันต์” ก็รู้กันว่า มีสายสัมพันธ์อันดีกับคนในรัฐบาล งานประชาสัมพันธ์ ของรัฐบาลหลายๆ งาน แม้แต่งานโดยส่วนตัวของลุงก็ว่ากันว่า เบื้องหลังคำแนะนำมาจากเขาคนนี้ด้วยคนหนึ่ง
พูดง่ายๆ ว่า ตั้งคนกันเอง คุ้นเคยกันดี จากกองหนุนมาเป็นกองหน้า ในสถานการณ์แบบนี้ ก็เป็นไปได้ว่า จะออกหัวออกก้อย ทั้งมาช่วยแก้วิฤกต หรือจะยิ่งเพิ่มวิกฤตกว่าเดิม
ต้องไม่ลืมว่า ระหว่างการเป็นกองเชียร์ กับการกระโดดเข้ามารับงานเป็นผู้เล่นไปกับลุงตู่ นั้นมีข้อแตกต่างกัน
“เสรี” แม้จะผ่านงานมาอย่างโชกโชน เป็นอาจารย์สอนหนังสือ มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย งานเอกชนกับพีอาร์เอเยนซีชื่อดัง ก็ทำมาหมดแล้ว ส่วนงานการเมืองก็เคยเป็นที่ปรึกษาให้สมัย “บรรหาร ศิลปอาชา” แต่ก็ยังอ่อนไหวกับเรื่องการเมืองได้ง่ายๆ เห็นได้จากกับรัฐบาลลุงตู่ที่บริหาร “เสรี” ก็เคยบ่นออกสื่อหลายครั้ง ในทำนองผิดหวัง เหนื่อยหน่าย และท้อใจ พร้อมๆ กันกับเคยมีข้อเสนอให้รัฐบาลลุงต้องตั้งวอร์รูม เพื่อรบในศึกสงครามการสื่อสาร
ที่สำคัญ วิกฤตรัฐบาลครั้งนี้ ก็อย่างที่เห็นๆ กัน ปัญหาอยูที่ “สนิมเนื้อในตน” ของการรวบอำนาจสั่งการไว้แต่เพียงผู้เดียว เป็น “Single command” ของลุง ภาวะผู้นำที่คนในรัฐบาลรับรู้ฤทธิ์เดชกันมาแล้ว
การบริหารจัดการของ ศบค. ที่วิกฤต 99.99% เป็นผลมาจาก “Single command” ของลุงนี่แหละ ไม่ใช่ใคร และไม่ใช่เรื่องไม่ประสีประสาการสื่อสาร
เพราะฉะนั้น โมงยามนี้ ที่การแพร่ระบาดโควิด และ มาตรการควบคุมดูแล ยังไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ พนันกันล่วงหน้าได้เลยว่า แทนที่ทีมกลยุทธ์สื่อสารจะเปิดเกมรุกอย่างที่หวัง อย่างที่อยากทำนั่นไม่ง่าย กลับกันงานเฉพาะหน้าคงต้องสาละวนกับการตามล้าง ตามเช็ด ผลงาน แก้ต่าง แก้เกมให้ลุงเสียเป็นส่วนใหญ่ จากพยายามแก้วิกฤตจะกลับกลายเป็นแก้ตัวให้ลุง กวักมือเรียกคณะทัวร์ให้มาลงมากขึ้นล่ะไม่ว่า เพราะมันค้านสายตา ขัดอารมณ์ ความรู้สึกของสังคม และความเป็นจริงของสถานการณ์บ้านเมือง
งานนี้ สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ากับมือคลำ ความจริง กับทุ่งลาเวนเดอร์นั้นต่างกัน ทีนี้ “ป้า” จะสัมผัสและได้รู้ซึ้งด้วยตัวเองว่า ฤทธิ์เดชลุง Single command นั่นเป็นยังไง!
** ถ้า “ผู้ว่าฯ ปู” ต้องลาออก ก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย แต่ “บิ๊กป๊อก” บอกยังมีโยกย้ายล็อต 2
หลังมีข่าวออกมาว่า “ผู้ว่าฯ ปู” วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร โพสต์เฟซบุ๊ก จะลาออกจากราชการ ทั้งที่ยังเหลืออายุราชการอีก 1 ปี เกษียณปีหน้า ก็สร้างความแปลกใจให้กับผู้ที่ได้รู้ข่าว บางคนบ่นเสียดาย เพราะท่านเป็น “ผู้ว่าฯ นักสู้” ที่ยืนเคียงข้างประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิดระบาดหนักในพื้นที่ จน “ผู้ว่าฯ ปู” ติดเชื้อ ต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู อยู่เกือบ 3 เดือน ก่อนจะหายดี จนกลับมาทำงานได้
การประกาศลาออกครั้งนี้ ทำให้หลายคนคิดไปว่า นอกจากปัญหาสุขภาพแล้ว น่าจะเป็นแรงกดดันจากการทำงาน หรือระบบราชการที่ไม่เอื้อต่อการบริหารจัดการเรื่องโรคระบาด
คนที่เคยติดตามการทำงานของ “ผู้ว่าฯ ปู” บริหารจัดการเกี่ยวกับเรื่องโควิด ที่สมุทรสาคร คงเคยได้ยินเรื่องที่ผู้ว่าฯสั่งลดขั้นตอน จากกรณีคัดแยกผู้ป่วยเข้าศูนย์พักคอย ที่รอการส่งเข้าโรงพยาบาล ว่าเรื่องความเป็นความตาย ต้องสำคัญกว่าเรื่องหยุมหยิม
“ถ้าระเบียบทำให้ประชาชนต้องตาย เพราะไม่มีที่กักตัว โปรดจงก้าวข้ามระเบียบนั้น แล้วบอกว่า ต้องทำ เพราะผมเป็นคนสั่งเอง …ให้มันรู้ไปว่าระเบียบกับความตาย อะไรสำคัญกว่า”
หรือการออกมาทวงวัคซีนให้กับจังหวัดสมุทรสาคร ที่ได้รับโควตาน้อยมาก ทั้งที่เป็นพื้นที่เสี่ยงสูง เป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของประเทศ
อย่างไรก็ตาม “ผู้ว่าฯ ปู” ยอมรับว่า มีความคิดที่จะลาออกจริง โดยร่างหนังสือลาออกไว้แล้ว แต่ต้องรอปรึกษาหลายฝ่ายก่อน เพราะเกี่ยวพันกับข้อกฎหมาย ซึ่งยังไม่แน่นอนว่า จะยื่นหนังสือลาออกเมื่อไร แต่ตั้งใจว่าจะทำงานถึงสิ้นปีงบประมาณ 2564 ในวันที่ 30 ก.ย.นี้
ยืนยันปัญหาหลักคือสุขภาพ “ไม่ใช่ยอมแพ้ หรือท้อแท้ต่อระบบราชการ” ทุกวันนี้ยังสู้ และคิดว่า แนวทางที่ จ.สมุทรสาคร ดำเนินการนั้นดีอยู่แล้ว เพียงแต่ว่ายังดีไม่มากพอ
“ผมไม่ได้มีความคิดที่อยากจะหนี จ.สมุทรสาคร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤต แต่ร่างกายสู้ไม่ไหว ตอนนี้อาการหนักกว่าเมื่อเดือน เม.ย. เริ่มมีอาการเกร็ง จึงเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม ต้นสังกัดจะได้เตรียมหาบุคลากรที่ร่างกายปกติ และขยันขันแข็ง เพราะปัญหาของ จ.สมุทรสาคร มีเยอะ อยากให้สานต่อได้ง่าย”
เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊ก “Sakravee Srisangdharma” หรือ สักระวี ศรีแสงธรรม ซึ่งเป็นนามปากกาของ ”ผู้ว่าฯ ปู” โพสต์ข้อความหัวข้อ “ยามดีใช้ ยามไข้รักษา” ว่า “มีคนถามมาเยอะว่า ไม่ย้ายกับเขาเหรอ ไม่เห็นมีชื่อในคำสั่ง … ก็อยากย้ายเช่นกันครับ เหตุผลของผมคือ สุขภาพผมไม่แข็งแรง ออกพื้นที่ได้ไม่มาก หลายคนเป็นห่วง ออกจากศิริราชแล้ว ร่างกายไม่เหมือนเดิมเลย โควิดทิ้งร่องรอยไว้เยอะมาก เหนื่อย ไอ จาม มีน้ำมูก หอบง่าย ล่าสุด มีอาการเกร็งด้านขวา...คุณหมอบอกว่า ผมเครียดหนัก พักผ่อนน้อย ต้องถนอมชีวิตมากกว่านี้
แต่งานในสมุทรสาคร ไม่เครียดคงไม่ได้ กระทรวงบอกว่า ผมทำงานมากเกินไป จะย้ายให้ไปอยู่จังหวัดอื่นที่งานโควิดเบาขึ้น ผมเป็นห่วงชาวบ้าน ก่อนถึงฤดูโยกย้าย ขอผมเป็นพนักพิงให้ชาวบ้านอุ่นใจก่อนว่า เรายังไม่หนีไปไหน พร้อมเผชิญเรื่องร้ายๆ ไปด้วยกัน … ผมเกษียณปีหน้าครับ บอกคนใหญ่ในกระทรวง ถึงเหตุผลการย้าย มาจากสุขภาพร่างกายล้วนๆ คำตอบที่ได้ตอนคำสั่งล่าสุด คือ ถึงผมอยากไปสุพรรณบุรี แต่นักการเมืองเขาไม่ยอมรับ (ซึ่งผมไม่รู้ว่าหมายถึงใคร) ผมไปไม่ได้แน่ ส่วนอ่างทอง เป็นจังหวัดเล็กเกินไป ย้ายจากสมุทรสาคร ไปจังหวัดเล็กกว่า คงไม่เหมาะ …
ความจริง ผู้ว่าฯ สุพรรณ เป็นกัลยาณมิตรที่ดีของผม ส่วน ผู้ว่าฯอ่างทอง ก็เป็นอดีตเพื่อนร่วมงานที่ดีของผมเช่นกัน … ผมคงไม่มีเหตุผลใดจะไปไล่ที่เขา
… ผมเคยฝันว่าจะสามารถอยู่รับราชการได้จนถึงเกษียณอายุ เพราะคือจุดหมายปลายทางที่ข้าราชการทุกคนปรารถนา แต่วันนี้ต้องยอมรับว่าอาจเป็นได้แค่ในฝัน สาเหตุหลักมาจากการทุ่มเทให้กับงานมากไป นึกถึงคำของผู้ใหญ่ที่บอกว่า จะหาจังหวัดอื่นที่งานโควิดเบาขึ้น แต่สุดท้ายก็ไม่ได้หาให้... คำสั่งที่เห็นจึงไม่มีชื่อผมด้วย หลงคิดมานานว่า การจัดคนลงตำแหน่งเป็นเรื่องของกระทรวงเป็นหลัก หรือว่าผมไม่มีสีของสิงห์ใดๆ นอกจาก “สีกากี” ของเครื่องแบบ สีที่ผมพยายามใช้เดินตามรอยพระบาทในหลวง ร.๙ มาตลอดชีวิตการทำงาน...
นั่นคือ ความในใจส่วนหนึ่งของ “ผู้ว่าฯ ปู” ที่ระบายออกมาผ่านหัวข้อเรื่อง “ยามดีใช้ ยามไข้รักษา” ...บ่งบอกว่าถ้าจะรักษากันในยามไข้ ก็ขอให้ “ผู้ใหญ่” ช่วยพิจารณาย้ายไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมด้วย
แน่นอนว่า ข่าว “ผู้ว่าฯ ปู” จะลาออกยอมรับรู้ไปถึง “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เจ้ากระทรวงมหาดไทย เมื่อถูกสื่อถามจึงบอกว่า ในช่วงที่ ผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ กำลังจะหายป่วยจากการติดเชื้อโควิด ทางครอบครัวของผู้ว่าฯ เคยบอกว่า ไม่อยากให้ผู้ว่าฯวีระศักดิ์ อยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร แล้ว เนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรง จึงได้แจ้งกับ “ฉัตรชัย พรหมเลิศ” ปลัดกระทรวงมหาดไทย ว่า จะย้ายผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ ออกจากพื้นที่ได้หรือไม่ เพราะมีปัญหาสุขภาพจริงๆ ซึ่งขณะนี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กำลังหาพื้นที่ที่เหมาะสมให้อยู่
“คำสั่งแต่งตั้ง โยกย้ายผู้ว่าฯ ล็อต 2 จะเสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายน เพื่อให้มีผลบังคับใช้ 1 ตุลาคมนี้ พร้อมคำสั่งแต่งตั้งล็อตแรก เมื่อวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา ...ก็จะให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยไปพูดคุย ขอให้ทำงานต่อไปก่อน ยังสามารถโยกย้ายได้” ...
เมื่อ “บิ๊กป๊อก” ยืนยันการันตีอย่างนี้ “ผู้ว่าฯ ปู” คงได้ไปถึงจุดหมายปลายทางที่ข้าราชการทุกคนปรารถนา คือ เกษียณเมื่ออายุ 60 ปี