วันนี้ (11 ส.ค.) นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ แต่โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว มีข้อความว่า ผมได้นั่งดูการเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบต่างๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหวขับไล่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งแล้ว ทำให้เกิดภาพเปรียบเทียบระหว่าง การชุมนุมเมื่อเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 กับการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ในตอนนี้นั้น มีความเหมือนกันอยู่หลายประการ เช่น
1. เป็นการชุมนุมโดยใช้การสื่อสารสมัยใหม่ ในการจัดการชุมนุม มีการประสานงาน และเชิญชวนผู้เข้าร่วมชุมนุมในเดือนพฤษภา 35 เป็นยุคที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือใหม่ๆ ในยุคนั้นการใช้โทรศัพท์มือถือ เชิญชวนติดต่อประสานงาน มีบทบาทสำคัญมาก จนเรียกกันว่า เป็นม็อบมือถือ ส่วนการชุมนุมในตอนนี้ เป็นการชุมนุมผ่านออนไลน์ มีการเคลื่อนไหวผ่านสื่อโซเชี่ยล ใช้การติดต่อผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ทั้ง เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ไลน์ ฯลฯ
2. ปรากฏการณ์ของการชุมนุม ทั้ง 2 เหตุการณ์ จะมีมวลชนกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่สามารถควบคุมได้ จะเคลื่อนไหวนอกเหนือจากแนวทางที่แกนนำผู้ชุมนุมกำหนดไว้ เมื่อครั้งการชุมนุมเดือนพฤษภา 35 ก็มีกลุ่มมอเตอร์ไซค์ไล่ทุบสัญญาณไฟจราจร เผาป้อมยามตำรวจ เหมือนกับการชุมนุมที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ มีการเผาป้อมยามตำรวจ เผารถตำรวจ เป็นการตอบโต้การปราบปราม สลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
3. ประเด็นการชุมนุมพุ่งเป้าไปยัง รัฐบาลเผด็จการของ พลเอก สุจินดา คราประยูร สืบทอดอำนาจ ด้วยการเสียสัตย์เพื่อชาติ และในการชุมนุมครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นการมุ่งโจมตี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า เป็นรัฐบาลเผด็จการ ผ่านการสืบทอดอำนาจจากรัฐธรรมนูญ ร่างโดยเผด็จการ
4. การชุมนุมทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งนอกสภาและในสภา สมัยการชุมนุมเดือนพฤษภา 35 ก็มีกลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเคลื่อนไหวสนับสนุนการชุมนุมกันอย่างเปิดเผย จนมีการแบ่งแยกออกเป็นพรรคเทพ พรรคมาร กัน และในตอนนี้ก็มีการแบ่งแยกชัดเจนที่เรียกกันว่าฝ่ายประชาธิปไตย กับฝ่ายสนับสนุนเผด็จการ
5. เมื่อเดือนพฤษภาคม 35 มีการเรียกร้องนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้ง จนเป็นที่มาของรัฐบาลเฉพาะกิจ ของ นายอานันท์ ปันยารชุน มีภารกิจเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น ก่อนเปลี่ยนผ่านไปสู่การยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ และในครั้งนี้ก็มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ ลาออก เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภา เลือกผู้เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ ในภารกิจเฉพาะหน้า 2 เรื่อง คือ แก้ปัญหาโควิด และแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว คืนอำนาจให้กับประชาชน ด้วยการยุบสภาเลือกตั้งใหม่
ส่วนตัวในฐานะนักการเมืองที่ได้สัมผัสกับบรรยากาศการเครื่องไหวทั้ง 2 เหตุการณ์ ก็อดคิดไม่ได้ว่า บรรยากาศทางการเมือง ช่างมีความคล้ายคลึงมาก แม้ว่าวันเวลาจะผ่านมาแล้วเกือบ 30 ปีก็ตาม กำลังรอดูว่าจุดจบของสถานการณ์ของบ้านเมืองในครั้งนี้จะจบลงอย่างไร