กสศ.ผนึกกลุ่มสหภาพฯ ปราจีนบุรีจับมือสหภาพโรงงาน “ไฮเออร์” ส่งกำลังใจมอบ “กล่องยังชีพ” บรรเทาทุกข์เยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษา กลุ่มเสี่ยงถูกกักตัว 14 วัน ต้องขาดงาน ขาดรายได้ เครียดหนัก หากติดโควิดเสี่ยงตกงาน กังวลใจเศรษฐกิจครอบครัวต้องตกระกำลำบาก
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานจังหวัดปราจีนบุรี สหภาพแรงงานซันโยแห่งประเทศไทย บริษัท ไฮเออร์ อีเล็คทริค (ประเทศไทย) จำกัด อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ร่วมกับชุมชนนำ “กล่องยังชีพ” สิ่งของจำเป็น อาทิ อาหาร ขนม และ เครื่องดื่มฯลฯ ช่วยเหลือเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษา อายุไม่เกิน 25 ปี ที่ทำงานอยู่ในโรงงาน ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาครูและเด็กนกระบบการศึกษา โดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ ภาคตะวันออก (จังหวัดปราจีนบุรี) จำนวน 13 คน ทั้งหมดเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด ทั้งที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต้องกักตัวเพื่อสังเกตอาการอยู่กับบ้าน หรือ กักตัวที่ศูนย์พักคอยในชุมชน เป็นเวลา 14 – 28 วัน ส่งผลกระทบให้เยาวชนแรงงานเหล่านี้ ประสบปัญหาขาดงาน ขาดรายได้และสุ่มเสี่ยงตกงาน หากติดโควิดต้องเข้ารับการรักษา ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครอบครัว
นายธีระพงษ์ อุ่นฤดี แกนนำสหภาพแรงงานซันโยแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่เชื้อโควิดในโรงงาน หรือ คลัสเตอร์โรงงาน ต้องยอมรับว่าเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษา บางคนไม่รู้ว่าตัวเองติดโควิด จึงมาทำงานพอไข้ขึ้นสูงและตรวจพบภายหลังกลับไม่กล้าบอกใคร เพราะกลัวไม่ได้ทำงานต่อ ไม่ได้รับค่าแรง เบี้ยขยัน และค่าล่วงเวลา หรือ โอที จึงกลัวจะทำให้ครอบครัวลำบาก เพราะในช่วงปกติทำงานรับค่าแรงไม่พอใช้จ่ายไม่พอกินอยู่แล้ว เมื่อไม่ได้ทำงานยิ่งลำบากจึงไม่กล้าเปิดเผยข้อมูล จึงอยากขอความร่วมมือเยาวชนแรงงานและโรงงานทุกแห่งช่วยกันให้ความร่วมมือมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดและเปิดเผยข้อมูล เพราะหากติดโควิดขึ้นมาจะลุกลามในโรงงาน ชุมชน หรือ ครอบครัวได้ และนับแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิดระลอก 3 เดือนเมษยนที่ผ่านมา โรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้มีการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มแต่อย่างใด ยิ่งปัจจุบันจังหวัดปราจีนบุรีประกาศเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม จึงไม่อาจจัดกิจกรรมดี ๆ สำหรับเยาวชนแรงงานได้
"แม้ว่าน้อง ๆ เยาวชนแรงงานเหล่านี้จะมีอาหารรับประทานครบ 3 มื้อแต่ก็กินไม่อิ่ม เพราะไม่ได้ทำงานเลยไม่มีเงินไปซื้อของมารับประทานระหว่างมื้อ บวกกับรู้สึกเครียด เพราะต้องลุ้นอยู่ทุก ๆ วันว่าตัวเองจะติดเชื้อหรือไม่ ทางโครงการฯ กสศ. โรงงานและชุมชน จึงช่วยกันสนับสนุนอาหารแห้ง ขนม เครื่องดื่ม ถือเป็นการให้กำลังใจน้องๆ ให้ผ่านพ้นภาวะความยากลำบากในช่วงโควิดไปให้ได้" นายธีระพงษ์ กล่าว
สำหรับแหล่งรายได้ของเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษาเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ประกอบด้วย 1.ค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นไปตามประกาศกระทรวงแรงงานกำหนด 324 บาทต่อวัน 2.ค่าล่วงเวลา หรือ โอที อัตราการพิจารณาประกอบด้วย ค่าจ้างขั้นต่ำ หารด้วย 8 หรือ ชั่วโมงทำงาน 1 วัน ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00น. พัก 1 ชม. และคูณด้วย 1.5 (1.5 เท่าของค่าแรงต่อวัน) จะได้โอทีต่อชั่วโมงที่ผู้ใช้แรงงานได้รับ ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่า ค่าแรงขั้นต่ำ ณ ปัจจุบัน 324 บาท หาร 8 (ชั่วโมง) และ คูณด้วย 1.5 เท่ากับ จะได้โอที 60 บาทต่อชั่วโมง หากใน 1 วัน ผู้ใช้แรงงานทำโอที 4 ชั่วโมง จะได้รับค่าจ้าง 320 บาท บวกค่าแรงขั้นต่ำ 324 บาทต่อ เท่ากับว่า 1 วันทำงานได้รับค่าจ้างวันละ 644 บาท โดยต้องทำงานถึง 14 ชั่วโมงต่อวันเป็นอย่างน้อย
ทั้งนี้ 3.โบนัส นับเป็นรายได้ที่ไม่แน่นอนแต่อย่างใด เพราะจะได้รับขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจ ผลประกอบการของโรงงานหรือบริษัท ข้อเรียกร้องจากการเจรจาต่อรองระหว่างสหภาพแรงงานกับเจ้าของสถานประกอบกิจการ รวมถึง ผลงานจากการทำงานที่นับจาก “วัน” ไม่ป่วย ไม่สาย ไม่ขาด และ ไม่ลา มากน้อยเพียงใดต่อปี และ 4.เบี้ยขยัน กล่าวคือ หากลูกจ้างทำงานโดยไม่ ป่วย สาย ขาด หรือ ลา ตั้งแต่วันจันทร์ - เสาร์ ตลอดทั้งเดือน 4 สัปดาห์จะได้รับ เบี้ยขยัน เป็นรางวัลปลอบใจในความขยันโดยโรงงานจะให้เป็นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มให้ 1 วัน
ขณะเดียวกันผู้ใช้แรงงานทั้งหญิงหรือชายต้องเผชิญแรงกดดันทางเศรษฐกิจในครอบครัว อาทิ ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตร,ค่าใช้จ่ายส่วนตัวกับหนี้สิน อาทิ ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนบ้าน หรือ ค่างวดรถมอเตอร์ไซด์ หรือ รถยนต์ เพื่อใช้เป็นยานพาหนะไปทำงานในโรงงาน เป็นต้น