‘ส.ว.ประภาศรี’ เดินหน้าพาคนไข้โควิดกลับบ้านยโสธร ประกาศ"รักรออยู่" ช่วยลดปัญหาคนไข้ล้นรพ.ในกทม. แนะรีบทำดีกว่าปล่อยให้ทะลักมาเอง อาจยากต่อการควบคุม
นางประภาศรี สุฉันทบุตรสมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า ตนเอง เป็น 1 ในคนเเรกๆที่คิดโครงการพาคนไข้โควิดกลับบ้าน และได้ทำด้วยตัวเอง ในฐานะนั่งในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อประเทศมีวิกฤตประชาชนเดือดร้อน มีความทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ติดเชื้อจากโควิดตนต้องพยายามหาทางแก้ไขให้ดีที่สุด ซึ่งตนมีโรงพยาบาลเอกชนของตัวเอง คิดว่าน่าจะทำโครงการนี้ไปพร้อมๆกับรัฐบาล คือการนำคนติดเชื้อโควิดออกมาต่างจังหวัด เพื่อลดปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ เพื่อลดการเสียชีวิตโดยไม่สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลได้ เมื่อมีบางคนไม่เข้าใจ กังวลว่า การนำคนไข้โควิดกลับมาต่างจังหวัดเป็นการนำเชื้อโควิดมากระจายเชื้อในต่างจังหวัด ทำให้อัตราการติดเชื้อในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น ขอเรียนว่าจังหวัดที่ประชาชนกลับมามากที่สุดคือภาคอีสาน เพราะคนจากภาคอีสานไปทำมาหากินที่กรุงเทพฯมากกว่าภาคอื่นๆ เเละส่วนใหญ่เป็นคนที่มีความเป็นอยู่ด้วยความยากลำบากด้วย
“เราทราบกันดีว่าสถานการณ์ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลในกทม. คนไข้โควิดรอเตียงจนเสียชีวิตที่บ้าน หรือห้องพักต่างๆ เเละ หลายคนไปถึงโรงพยาบาลช้ามาก เมื่อมาถึงอาการหนักมากเเล้วไม่สามารถช่วยชีวิตได้ คนไข้เหล่านี้มีจำนวนมากขึ้นมากขึ้นทุกวัน เเพทย์พยาบาลเเละเจ้าหน้าที่ต่างๆรับภาระไม่ไหว ป่วยเสียชีวิตด้วยเป็นจำนวนมากเช่นกัน”
นางประภาศรี กล่าวต่อไปว่า สภาพในกทม.ตอนนี้ เปรียบเหมือนสมรภูมิรบที่มีการบาดเจ็บล้มตายเกลื่อนสนามรบ เเละลามไปทั่วเเละปริมณฑล ตนเป็นคนหนึ่งที่คิดว่าต่างจังหวัดในหลายๆจังหวัด หากสำรวจให้ดียังมีเตียงเหลือ อยู่ในโรงพยาบาลต่างจังหวัดรวมทั้งสามารถขยายเตียงสนาม หรือ ร.พ. สนามได้ตลอดเวลา เเละต่างจังหวัด ยังมีเเพทย์ผู้เชี่ยวชาญรักษาโรคนี้ได้ มีเครื่องช่วยหายใจ มีเตียงไอซียู จากข้อมูลการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อต้นปี 2563 ระบุว่า ทั่วประเทศไทย มีเครื่องช่วยหายใจ ประมาณ 10,000 เครื่อง มีบุคลากรพร้อม มียารักษา
นางประภาศรีกล่าวว่า การเดินทางกลับภูมิลำเนาจังหวัดยโสธรนั้น ระยะทางไม่ได้เป็นอุปสรรค เเต่อย่างใด หากมีรถมาส่งเเละป้องกันการกระจายเชื้อตามหลักวิชาระบาดวิทยา ระยะเวลาเดินทาง ประมาณ 6 -7ชั่วโมงซึ่งดีกว่านอนรอความตายอยู่ในกทม.ซึ่งเป็นภาพที่น่าอนาถใจมาก ทั้งนี้ เราต้องใช้ตัวเลขมาพิจารณาโดยละเอียด เเยกออกมาว่า ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มคือผู้ที่ได้รับการนำมาดูเเลในโรงพยาบาลสนาม หรือหากอาการหนัก คนไข้มาถึงก็ได้เข้าโรงพยาบาล เเต่ละอำเภอหรือจังหวัดทันที คนไข้ไม่ได้ไปเพ่นพ่านที่ไหนเลย ไม่มีคลัสเตอร์ใดๆเกิดขึ้น ตัวเลขการติดเชื้อใหม่ในเเต่ละจังหวัดไม่ได้มาจากผู้ติดเชื้อที่ได้รับการนำมา ซึ่งรัฐบาลเเละตนได้มีส่วนประชาสัมพันธ์ เเละทำโครงการนี้
"ตัวเลขการติดเชื้อในชุมชนไม่ได้มาจากคนไข้กลุ่มนี้ การที่เรารีบทำดีกว่าปล่อยให้คนไข้ทะลักมาเอง ตอนนั้นเราจะควบคุมอะไรไม่ได้อีกเเล้ว ที่สำคัญที่สุดในด้านจิตใจ คนไข้จะอบอุ่น มีกำลังใจเป็นสุขว่า ได้มารักษาที่บ้านตัวเอง หากตายก็ได้ตายที่บ้านตัวเอง ความรู้สึกนี้มีค่ามหาศาลญาติพี่น้องได้มาเยี่ยม นำอาหารมาฝาก เเม้ไม่ได้สัมผัสคนไข้ เเต่มีความสุขอย่างเหลือคณานับ เมื่อทราบว่าลูกหลานพี่น้องได้มานอนรักษาใกล้ๆ ไ้ด้เห็นเเค่รั้วของโรงพยาบาลก็มีความหวัง หายห่วงหายกังวลว่าชีวิตได้มาอยู่ใกล้ๆกัน ความรู้สึกนี้มีค่าเกินกว่าจะบรรยายได้ สำคัญที่สุด คือ ดวงตาของคนไข้ที่มีความความหวังว่าปลอดภัยเเละรอดตายเเล้ว ซึ่งหากรักษาได้ทันก็มีโอกาสรอด ไม่ใช่จะตายกันหมดทุกคน" ส.ว.ประภาศรี กล่าว