“ประยุทธ์” ประชุม กพช. เคาะกรอบ “แผนพลังงานชาติ” มุ่งลดคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065-2070 ย้ำรัฐบาลเตรียมการเรื่องพลังงาน เพื่อวันนี้และอนาคต ให้ประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด
วันนี้ (4 ส.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2564 ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมผ่านระบบ VDO Conference ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายต่อที่ประชุมตอนหนึ่ง ว่า รัฐบาลมีแผนที่จะปรับในเรื่องแหล่งพลังงานของประเทศที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต ที่จะต้องดำเนินการให้ได้ตามแผนยุทธศาสตร์ เพื่อให้ประเทศและประชาชนได้รับประโยชน์ รวมทั้งเอกชนที่ร่วมมือกับรัฐบาลก็ต้องได้ผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม หากมีปัญหาในเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่ล้าสมัย ก็จะต้องปรับแก้ไขเพื่อจะเดินหน้าต่อไปได้ โดยนายกฯ อยากให้เรื่องพลังงานเป็นเรื่องของการ Reshape ประเทศไทยใหม่ ซึ่งในการปฏิรูปเศรษฐกิจมีต้นทางมาจากพลังงานเกือบทั้งสิ้น จึงขอฝากให้ กพช. ได้พิจารณาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อทุกกลุ่มเป้าหมายทั้งภาคการเกษตร ภาคการผลิต การอุตสาหกรรม และผู้บริโภค
นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวชื่นชมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าสู่รูปแบบใหม่ Hydro-Floating Solar Hybrid System หรือ โครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด คือ ระบบผลิตไฟฟ้าผสมผสานระหว่าง “พลังน้ำจากเขื่อน” และ “พลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำบนเขื่อน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ขณะนี้ดำเนินโครงการนำร่องที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแห่งแรก กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ และจะดำเนินการอีก 7 เขื่อนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ มีแผนขยายเป็น 2,700 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี โดยนายกฯ ขอให้ดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมาย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงเรื่องยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ว่า จะต้องทำให้ครบวงจร ทั้งเรื่องรถและสถานีบริการชาร์จแบตเตอรี่ เพื่อจูงใจให้คนมาใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น ทั้งนี้ ต้องมีการสร้างความเข้าใจกับประชาชน ให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงพลังงานของโลก ที่ต้องเตรียมการให้พร้อม ซึ่งการเตรียมการเรื่องพลังงานเป็นการทำเพื่อวันนี้และอนาคต ทำให้คนรุ่นใหม่ โดยการทำงานทุกอย่างต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ทุกอย่างต้องชี้แจงได้ตรวจสอบได้ และประเทศต้องได้รับประโยชน์สูงสุด พร้อมย้ำว่าวันนี้ประเทศไทยต้องเดินหน้าไปด้วยกัน
สำหรับมติที่ประชุม กพช. ที่สำคัญมีดังนี้
เห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ ซึ่งได้กำหนดแนวนโยบายภาคพลังงาน โดยมีเป้าหมายสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาด และลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065-2070 สำหรับแนวนโยบายของแผนพลังงานชาติ (Policy Direction) เพื่อขับเคลื่อนให้ภาคพลังงานสามารถบรรลุเป้าหมายการมุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ โดยการส่งเสริมการลงทุนพลังงานสีเขียวในภาคพลังงาน อาทิ (1) เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าใหม่โดยมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 พิจารณาร่วมกับต้นทุนระบบกักเก็บพลังงานระยะยาว (2) ปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ตามนโยบาย 30@30 การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งมาเป็น EV เป็นแนวทางที่ช่วยในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเพิ่มความสามารถในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่งให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ช่วยแก้ไขปัญหาสภาพอากาศจากภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 (3) ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน มากกว่าร้อยละ 30 โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการบริหารจัดการพลังงานสมัยใหม่ มาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงาน (4) ปรับโครงสร้างกิจการพลังงานรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ตามแนวทาง 4D1E (Decarbonization : การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงาน Digitalization: การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการระบบพลังงาน Decentralization: การกระจายศูนย์การผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน Deregulation : การปรับปรุงกฎระเบียบรองรับนโยบายพลังงานสมัยใหม่ และ Electrification : การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า) ทั้งนี้ เป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ในช่วงดังกล่าว (2065-2070) ขึ้นอยู่กับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการสนับสนุนทางการเงิน
ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนสู่ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2065-2070 อย่างต่อเนื่อง และเพื่อแสดงถึงจุดยืนและการเตรียมการในการปรับเปลี่ยนให้รองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจสู่ neutral-carbon economy การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่มีนโยบายมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาดภายในช่วงเวลา 1-10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2564-2573) กพช. จึงได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน ดำเนินการระยะเร่งด่วน ดังนี้
(1) จัดทำแผนพลังงานชาติ ภายใต้กรอบนโยบายที่ทำให้ภาคพลังงานขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจให้สามารถรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจ neutral-carbon economy ได้ในระยะยาว ครอบคลุมการขับเคลื่อนพลังงานทั้งด้านไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเชื้อเพลิง พลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน
(2) พิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรูปแบบต่าง ๆ และปรับลดสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ภายใต้ PDP2018 rev.1 ในช่วง 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2564-2573) ตามความเหมาะสม อาทิ ปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าให้มีการผูกพันเชื้อเพลิงฟอสซิลเท่าที่จำเป็นและสามารถรองรับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้ในระยะยาว การคำนึงถึงต้นทุนและความก้าวหน้าเทคโนโลยีเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ให้นำหลักการวางแผนเชิงความน่าจะเป็นโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) มาใช้เป็นเกณฑ์ แทนกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ซึ่งไม่สามารถวิเคราะห์ผลจากความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้การประเมินและการวางแผนความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศมีความแม่นยำมากขึ้น
(3) ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบสายส่งและจำหน่ายไฟฟ้าให้มีความยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมพื้นที่ศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในอนาคต และสามารถตอบสนองต่อการผลิตไฟฟ้าได้อย่างทันท่วงทีโดยไม่กระทบกับความมั่นคงของประเทศ
สำหรับกระบวนการจัดทำแผนพลังงานชาติ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2565 โดยจะมีรับฟังความคิดเห็นกรอบแผนพลังงานชาติ ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2564 เพื่อนำความเห็นมาประกอบการจัดทำแผน 5 แผนหลัก และรวมเป็นแผนพลังงานชาติ หลังจากนั้นจะมีการรับฟังความคิดเห็นร่างแผนพลังงานชาติ ก่อนนำเสนอ กพช. ให้ความเห็นชอบต่อไป
ที่ประชุม กพช. ยังได้เห็นชอบโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 (ใหม่) โดยโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ จำแนกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ราคาก๊าซธรรมชาติที่ขายให้กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วย (1) ราคาเฉลี่ยก๊าซฯ อ่าวไทย (Gulf Gas) (2) ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (S) และ (3) ค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติในทะเล (Zone 1) 2. ราคาก๊าซธรรมชาติที่ Shipper ปตท. ขายในกลุ่ม Old Supply ประกอบด้วย (1) ราคาเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยหลังโรงแยก (รวมค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติในทะเล) ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา ณ ชายแดน และก๊าซ LNG (รวมค่าบริการสถานี LNG ในการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซ) (Pool Gas) (2) ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (S) และ (3) ค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติบนบก (Zone 2-4) (โรงไฟฟ้าน้ำพอง ราคาเฉลี่ยเนื้อก๊าซให้เป็นไปตามที่ ปตท. รับซื้อจากผู้รับสัมปทานค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติบนบก (Zone 5)) และ 3. ราคาก๊าซธรรมชาติที่ New Shipper ขายไฟฟ้าเข้าระบบใน Regulated Market ประกอบด้วย (1) ราคา LNG (2) ค่าบริการสถานี LNG ในการเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซ (3) ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ และ (4) ค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติบนบก (Zone 3)
โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการทบทวนพื้นที่ (Zone) ในการคิดค่าบริการตามการใช้ระบบท่อส่งก๊าซของ ผู้ซื้อก๊าซ โดยคำนวณค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติพื้นที่ 1 ที่รวมค่าผ่านท่อในทะเลทั้งหมด ซึ่งนำค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติของบริษัท ทรานส์ ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด (TTM) นำมาคำนวณรวมในอัตราค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติ ในทะเลของ ปตท. ด้วย และกำหนดให้โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติใหม่ มีผลบังคับใช้ภายใน 1 ปี ทั้งนี้ ระหว่างกำหนดอัตราค่าบริการจัดหาและค้าส่ง (S) และค่าผ่านท่อ (T) ตามโครงสร้างใหม่ ให้กำหนดอัตราค่าบริการจัดหาและค้าส่ง (ในแต่ละประเภทผู้ใช้ก๊าซ คิดตาม % Margin โดยคำนวณจากค่าเฉลี่ย (Pool Gas) ตามวิธีปัจจุบันและกำหนดค่าผ่านท่อ (T) สำหรับ Shipper รายใหม่ที่นำเข้า LNG เท่ากับอัตราค่าผ่านท่อบนบก (Zone 3 ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าในภาพรวมลดลงประมาณ 56 ล้านบาทต่อเดือน หรือคิดเป็นค่า Ft ลดลงประมาณ 0.39 สตางค์/หน่วย
นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ยังได้เห็นชอบการนำเข้า Liquefied Natural Gas (LNG) ที่ไม่กระทบต่อ Take or Pay สำหรับ ปี 2564 -2566 เท่ากับ 0.48 1.74 และ 3.02 ล้านตันต่อปี ตามลำดับ โดยมอบหมายให้ กบง. พิจารณาทบทวนหากพบว่าปริมาณความสามารถในการนำเข้า LNG มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากตัวเลขดังกล่าว และมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้ดำเนินการจัดสรรปริมาณการนำเข้า LNG ตามโครงสร้างของกิจการก๊าซธรรมชาติ ในระยะที่ 2 คือ Regulated Market และ Partially Regulated Market สำหรับ New Demand และกำหนดหลักเกณฑ์ในการนำเข้าของ Shipper รวมทั้งกำกับดูแลต่อไป