สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. เปิดเวทีรับฟังความเห็น “Stakeholder Engagement กับการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ประจำปี 2565” ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการจัดทำมาตรฐานอาชีพในปี 2565 รองรับความต้องการกำลังคนเร่งด่วนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผ่านการประชุมออนไลน์
วันนี้ (30 ก.ค.) ดร.นพดล ปิยะตระภูมิ ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญในการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในการจัดทำมาตรฐานอาชีพ เนื่องจาก สคช. ทำงานกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะการพัฒนากำลังคนในอาชีพ ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีมาตรฐาน ได้การรับรองด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาไปสู่ระดับสากลได้ ที่ผ่านมา สคช. ได้ผลักดัน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกกลุ่มอาชีพได้มีส่วนร่วมในการจัดทำมาตรฐานอาชีพไปแล้ว 835 อาชีพ ใน 52 สาขาวิชาชีพ มีบุคลากรเข้าร่วมในการจัดทำมาตรฐานอาชีพมากกว่า 5,000 คน ส่งผลให้การดำเนินงานของสถาบันฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์ความต้องการกำลังคนในสนามอาชีพ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำจากระบบคุณวุฒิด้านการศึกษา ที่คนในอาชีพสามารถใช้ความเชี่ยวชาญที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ และเข้าสู่ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อรับปริญญาอาชีพ ทำให้กลุ่มเปราะบางในสังคมกลายเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ขณะที่เวทีระดมความเห็นเพื่อการจัดทำมาตรฐานอาชีพในครั้งนี้ ได้มีการแสดงความเห็นจากบุคลากรในหลากหลายสาขาอาชีพ อาทิ สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีไซเบอร์ เสนอให้จัดทำมาตรฐานอาชีพความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อสร้างบุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจมวลรวมทั้งภายในและภายนอกประเทศ จึงจำเป็นต้องพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมในโลกใหม่อย่างชัดเจน
ด้านตัวแทนจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แสดงความพร้อมร่วมผลักดันให้เกิดการรับรองนักรุกขกร รวมทั้งอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการจัดการพื้นที่สีเขียว นักจัดการไม้ขุดล้อม และผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีความสำคัญในการพัฒนาไม้เศรษฐกิจ และไม้เพื่อการอนุรักษ์ ที่ควรมีการรับรองในอาชีพ
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีตัวแทนผู้พิการทางการได้ยิน ที่อยากให้เกิดการจัดทำ และรับรองล่ามภาษามือ ซึ่งจะช่วยผลักดันเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากอาชีพนักประเมินมูลค่าทรัพย์สิน นักโภชนาการ ที่พร้อมร่วมเดินหน้าพัฒนามาตรฐานอาชีพกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพด้วยเช่นกัน
การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของสังคม จากการระบาดของโรคโควิด – 19 ส่งผลให้ทุกอาชีพมีการปรับตัว ที่ผ่านมา สคช. ได้เดินหน้า ส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนากำลังคนด้วยการทบทวนมาตรฐานอาชีพเดิมและผลักดันให้เกิดการจัดทำมาตรฐานอาชีพใหม่ๆ รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและสังคม รวมถึงการผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากมาตรฐานอาชีพ เพื่อการพัฒนากำลังคนของประเทศอย่างยั่งยืน