เปิดชีวิต 3 เยาวชนแรงงานต้นแบบใฝ่ดีสู้ชีวิตจากทุน กสศ.ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตพัฒนาทักษะชีวิตเติมฝันทักษะอาชีพฝ่าวิกฤตโควิด
โครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา โดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ : ภาคตะวันออก จังหวัดปราจีนบุรี ร่วมกับภาคีความร่วมมือในพื้นที่ระดมความคิดเห็นเพื่อเฟ้นหา “มาตรการคุ้มครองทางสังคม” ด้วยการพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ อันประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ คือ 1. “ทุนหมุนเวียน” ในการตั้งต้นการประกอบอาชีพเสริมหรืออาชีพทางเลือก 2. “จัดซื้ออุปกรณ์ประกอบอาชีพเสริม” ตามความต้องการ และ 3. “จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต” เป็นการให้ความรู้ประกอบการฝึกปฏิบัติจริง พร้อมกับสอดแทรกข้อคิดประสบการณ์ชีวิตด้วยการนำบุคคลตัวอย่างมาบอกเล่าความสำเร็จเพื่อปลุกพลังใจจากการประกอบอาชีพเสริมว่าเกิดประโยชน์และเป็นผลดีอย่างไร จนสามารถประคับประคองชีวิตท่ามกลางเศรษฐกิจอันเปราะบางจากวิกฤตโควิด
ภายหลังค้นหากลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชนแรงงานนอกระบบการศึกษา หรือ บุตรหลานผู้ใช้แรงงานที่อายุไม่เกิน 25 ปี โดยมีกลุ่มสหภาพแรงงานปราจีนบุรีและชุมชนในพื้นที่ช่วยขับเคลื่อนมาร่วมกันจัดกิจกรรม “ค้นหาศักยภาพ” จากการได้รับทุนสนับสนุนให้มี “อาชีพเสริม” ระหว่างทำงานประจำในโรงงาน หรือ “ต่อยอดอาชีพเดิม” พร้อมหนุนเสริมอุปกรณ์ประกอบอาชีพ ในรูปแบบจัดกิจกรรมฝึกอบรมทักษะอาชีพแบบ “รายกลุ่ม” หรือ ฝึกอบรมทักษะอาชีพแบบ “รายบุคคล” ที่เข้าไปสนับสนุน "ธุรกิจส่วนตัว" "พัฒนาฝีมือแรงงาน" รวมไปถึง "บรรเทาทุกข์" ปัญหาเศรษฐกิจครอบครัว โดยยึดความต้องการของเยาวชนแรงงานเป็นตัวตั้ง
หนึ่งในน้อง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการฯ กสศ. ที่สามารถนำทุนการศึกษาไปต่อยอดพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเองและครอบครัวได้อย่างน่าภาคภูมิใจ อาทิ “น้องเมย์” หรือ น.ส.ศุภรดา บัวขาว อายุ 25 ปี ไม่ใช่เพราะปัญหาครอบครัวฐานะยากจนเท่านั้น จึงทำให้ “น้องเมย์” กลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ชีวิตลอยเคว้งคว้างอยู่นอกระบบการศึกษาตั้งแต่อายุ 15 ปี แต่ด้วยความตั้งใจหรือพลั้งเผลอในช่วงวัยรุ่นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตที่เด็กสาวคนหนึ่งอาจเดินก้าวพลาดได้จากปัญหาท้องไม่พร้อม ทำให้เธอต้องออกจากการเรียนกลางคันตั้งแต่ ม.2 เพื่อมาอุ้มท้องและทำงานหาเงินเลี้ยงลูก จึงขอทุนสนับสนุนเป็นเครื่องมืออุปกรณ์ “ร้อยลูกปัด” เพื่อได้มีรายได้เสริมระหว่างเลี้ยงดูบุตรที่เป็นเด็กพิเศษอยู่กับบ้าน
“หนูอยากมีร้านกิ๊ฟช็อปเล็ก ๆ เป็นของตัวเองตอนนี้กำลังเก็บเงินเพื่อไปซื้อลูกปัดเพิ่มมาทำกระเป๋าขาย" น้องเมย์ กล่าวถึงความใฝ่ฝันของตัวเอง
เยาวชนแรงงานที่เข้าร่วมโครงการฯ ส่วนใหญ่เป็นพนักงานโรงงาน ฮิตาชิ ทรานสปอร์ต ซิสเต็ม (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทขนส่งสินค้าและผลิตภัณฑ์ อาทิ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ปั๊มน้ำ ฯลฯ หนึ่งในนั้น คือ นายศรุต ทุมประสิทธิ์ อายุ 18 ปี ขอรับทุนเป็น “เครื่องตัดเหล็กไฟเบอร์” เพื่อไปรับงานพิเศษช่วยบิดาที่ทำงานก่อสร้างในช่วงวันอาทิตย์ แม้จะเหน็ดเหนื่อยมิได้หยุดพัก เพราะอยากมีรายได้เสริมมาเลี้ยงดูภรรยา น.ส.พรรัมภา ศรีสวัสดิ์ อายุ 18 ปี กับลูกสาวตัวน้อยวัยแบเบาะซึ่งเข้าร่วมโครงการฯด้วยเช่นกัน โดยเลือกอาชีพเสริมเป็นขายของออนไลน์
"อยากกลับไปเรียนเอาวุฒิไปเป็นใบเบิกทางทำงานโรงงาน ตอนนี้จบแค่ป.6 อยากเรียน กศน.ให้จบม.6 ส่วนแฟนเลี้ยงลูกอยู่บ้านไม่มีรายได้ ซื้อของมาขายออนไลน์ก็ขายไม่ได้เพราะโควิด ถ้าไม่มีงานประจำที่โรงงานฮิตาชิฯลำบาก แต่ยังดีมีงานรับเหมาก่อสร้างกับพ่อพออยู่ได้" ศรุต เล่าถึงเป้าหมายชีวิต
เยาวชนแรงงานอีกคนที่เข้าร่วมโครงการฯ คือ “น้องครีม” หรือ น.ส.ธันญ์ชนก จันขัน อายุ 18 ปี เส้นทางการศึกษาในชั้นเรียนของเธอไปไกลสุดแค่ ม.6 เนื่องจากไม่มีทุนเรียนต่อ แต่มีหัวธุรกิจใจรักทำเบเกอรี่และนิสัยใฝ่เรียน ยามว่างเธอมักหัดทำขนมและเครื่องดื่มไปขายเพื่อนพนักงานในโรงงานเพื่อหารายได้เสริมฝ่าวิกฤตโควิด ทันทีที่มีโครงการฯ กสศ. เข้ามา เธอเลือกขอทุนเป็น “อุปกรณ์เสริมสวยและเรียนเบเกอรี่” เพราะรู้ดีว่าชีวิตหลังกำแพงโรงงานไม่ได้มั่นคงอย่างที่คิด การเอาชีวิตไปผูกติดกับผลประกอบการโรงงานก็ไม่ต่างอะไรกับการเอาอนาคตตัวเองไปแขวนอยู่บนเส้นดายบาง ๆ โดยที่ไม่รู้ว่าจะโดนเลิกจ้างเมื่อไร
“ใจจริงไม่อยากทำงานโรงงาน อยากเรียนสูง ๆ แต่ไม่มีเงิน จึงต้องทำงานพอได้ทำงานก็รู้สึกเหนื่อวันหยุดก็อยากพักผ่อนไม่มีเวลาไปเรียน โชคดีมีโครงการฯ กสศ.เข้ามาจึงได้อุปกรณ์มาทำอาชีพเสริมระหว่างทำงานโรงงาน" น้องครีม กล่าวดีใจที่ได้อุปกรณ์ประกอบอาชีพเสริม
ตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ฯ จึงได้ประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีเข้ามาร่วมสร้าง “ระบบนิเวศการเรียนรู้ตลอดชีวิต” หรือ Lifelong Learning Ecosystem แก่กลุ่มเป้าหมายให้ได้รับการศึกษาแบบ "ไร้รอยต่อ" สู่การเรียนรู้ตลอดทุกช่วงวัย และ สร้างการมีส่วนร่วมในการ "พัฒนาคน" ให้มี ทักษะที่หลากหลาย หรือ Multi-skill ด้วยการพัฒนา “ทักษะชีวิต” และ “ทักษะอาชีพ” ผ่านการทำงานกับ "ภาคีความร่วมมือ" ตั้งแต่สถาบันครอบครัว หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และ ชุมชนเข้ามาร่วมทำงานกับ กสศ. โดยมีเป้าหมาย คือ “สร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา” ตลอดทุกช่วงวัยไม่ให้หลุดนอกระบบการศึกษา ให้ได้กลับคืนสู่ระบบการศึกษา หรือ ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาทักษะชีวิตหรือทักษะอาชีพตามความถนัดเพื่อให้มีศักยภาพสามารถพึ่งตนเองในการดำรงชีวิตท่ามกลางสถานการณ์ไวรัสโควิด
นี่คือหมุดหมายที่ทาง โครงการพัฒนาครูและเด็กนอกระบบการศึกษา โดยเครือข่ายเชิงพื้นที่ : ภาคตะวันออก จังหวัดปราจีนบุรี มุ่งมั่นและตั้งใจทำงานมาโดยตลอดท่ามกลางอุปสรรคและความยากลำบากในการทำงานบนสถานการณ์วิกฤตโควิด ที่ไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงเมื่อใด