“กัลยา” แนะ เบอร์ฉุกเฉินต้องมีเบอร์เดียว โทร.ได้แม้ไม่มีเงิน “สยาม” ชี้ ช่วยลดความซ้ำซ้อน-งบประมาณลงทุน ต้องเร่งบูรณาการรองรับวิกฤตวันข้างหน้าด้วย
วันนี้ (28 ก.ค.) น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ และประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) กล่าวถึงกรณีหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ ว่า เรื่องเลขหมายฉุกเฉินที่สำคัญต่อชีวิตจะต้องทำให้ถูกใช้ได้กับโทรศัพท์ทุกชนิด และจะต้องไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่าเบอร์มือถือที่ไม่ได้เติมเงิน หรือแม้กระทั่งชาวต่างชาติที่ถือโทรศัพท์เข้ามาในประเทศ ทั้งนี้ ในทุกนาทีที่สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือได้เร็วที่สุด หมายความถึงโอกาสที่จะช่วยชีวิตมากขึ้นเท่านั้น ในแนวปฏิบัติทั่วโลกไม่ใช่มีเบอร์ฉุกเฉิน 4 หลักจำนวนมาก แต่ควรมีหมายเลขฉุกเฉิน 3 หลักเพียงเบอร์เดียวเท่านั้น และโทรศัพท์ทุกเครื่อง ทุกชนิดในประเทศไทยจะต้องสามารถโทร.หาเบอร์นี้ได้ ไม่มีข้อยกเว้นว่ามีเงินหรือไม่ เหตุผลหลักต้องการให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศจำได้ง่ายๆ เพียงเบอร์เดียวเท่านั้น และสามารถแจ้งขอความช่วยเหลือได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ด้าน นายสยาม หัตถสงเคราะห์ ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า ถ้ามีระบบบริหารจัดการเบอร์เดียวที่ดี จะไม่ต้องแบ่งแยกว่าหน่วยงานไหนรับผิดชอบอะไร ในประเทศต่างๆ ได้มีการตกลงเบอร์ฉุกเฉินที่เป็นสากลไว้แล้วโดยกำหนดหมายเลข 112 ไว้เป็นที่รู้กัน ในยุโรปใครก็ตามสามารถโทร. 112 ได้หมด แต่ด้วยความเป็น Thailand Only เราได้กำหนดหมายเลขฉุกเฉินแห่งชาติตามมติ ครม. ตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินเหลือ 191 แค่เบอร์เดียว ตั้งเป้าบูรณาการแจ้งเหตุ เพื่อช่วยเหลือทันท่วงที ป้องกันความสับสน และประชาชนโทร.เมื่อไหร่ก็ติด โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับผิดชอบในการดำเนินโครงการ และให้จัดตั้งโดยเร็ว ซึ่งในความเป็นจริงเรื่องสุขภาพและเรื่องความเป็นความตายต้องมาก่อน และเรื่องฉุกเฉินโดยส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาด้านสุขภาพ ดังนั้นโดยตรรกะที่ควรจะเป็น Call Center ของหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ด่านแรกที่รับเรื่องควรเป็นบุคคลากรที่มีทักษะในเรื่องการรักษาพยาบาล
“ในหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการลงทุนงบประมาณไปกับ Government Contact Center (GCC) หมายเลข 4 หลัก 1111 เป็นบริการที่ทางกระทรวงดีอีเอส ได้ทำการรวบรวมข้อมูล ข่าวสาร และบริการจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ มาไว้ที่จุดเดียวกัน เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว แต่เมื่อเกิดวิกฤตฉุกเฉินในขณะนี้ ปรากฏว่า Call Center ไม่สามารถทำงานตอบสนองความต้องการให้ประชาชนได้ ต้องให้แต่ละหน่วยงานภาครัฐไปตั้งเบอร์ 4 หลักบริการให้กับประชาชนแทน นับเป็นข้อบกพร่องเกิดความซ้ำซ้อนในการลงทุนเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งสร้างภาระความยุ่งยากในการจดจำเบอร์ให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น วันนี้อยู่ในช่วงพิจารณางบประมาณ อะไรที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนควรตัดทิ้งให้หมด แล้วมาลงทุนกับสิ่งจำเป็น และเราควรบูรณาการทำให้สำเร็จเพื่อรองรับการเกิดเหตุฉุกเฉินในอนาคตด้วย ถ้ายังไม่ทำระบบก็จะยังเละแบบนี้ต่อไป” นายสยาม กล่าว