จากกรณีที่มีข่าวว่าวัคซีนไฟเซอร์ล็อตที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา จำนวน 1.5 ล้านโดส ที่จะเข้าไทยในเดือนกรกฎาคมนี้ ต่อมามีการประกาศว่าจะฉีดให้แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นลำดับแรก ประมาณกว่า 5 แสนโดส
ซึ่งระหว่างนั้น มีกระแสข่าวให้สับสนว่า การฉีดให้บุคลากรข้างต้นอาจจะเหลือ 2-3 แสนโดส และกล่าวหาว่ามีการขโมยวัคซีน กลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่สังคมวิจารณ์
รวมทั้งล่าสุด ยังมีบางกลุ่มไปยื่นจดหมายเปิดผนึก ต่อสถานทูตสหรัฐอเมริกาเพื่อขอให้ตรวจสอบการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) จำนวน 1.5 ล้านโดส อีกด้วย
อย่างไร ก็ตาม เรื่องนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง และโฆษกกระทรวงสาธารณสุขได้ออกมายืนยันแล้วว่า
วัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรก จำนวน 1.54 ล้านโดสจะเข้ามาภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เริ่มฉีดต้นเดือนสิงหาคม 2564 ในกลุ่มบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข บุคลากรด่านหน้า ไม่น้อยกว่า 5 แสนโดส ที่เหลือจัดสรรไปยังกลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยงอื่น ๆ และเพื่อควบคุมการระบาดในพื้นที่
“ข่าวการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ด่านหน้าเหลือ 2 แสนโดสนั้น ขอย้ำไม่เป็นความจริง การจัดสรรวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญของบุคลากรด้านการแพทย์และด่านหน้า เพื่อธำรงรักษาระบบสาธารณสุขของประเทศรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 บุคลากรด่านหน้าทุกคนต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน”
เท่ากับว่า ไม่มีการขโมยวัคซีนไฟเซอร์ เพราะวัคซีนที่นอกเหนือจากการจัดสรรให้แพทย์ พยาบาล บุคลากร สาธารณสุขด่านหน้าแล้ว อีกส่วนจะถูกจัดสรรไปให้กับ กลุ่มผู้สูงอายุ ,ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ,หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ,ชาวต่างชาติ เน้นผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และ คนไทยที่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ คือ นักเรียน นักศึกษา นักกีฬา และนักการทูต ซึ่งเป็นไปตามการรายงานของ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวไว้เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา
เท่ากับวัคซีนไฟเซอร์ ที่กำลังจะมาถึงนั้น ทีมสาธารณสุข เป็นกลุ่มที่ได้รับมากที่สุดกว่า 5 แสนโดส ก่อนจะกระจายให้กลุ่มอื่นๆ ตามที่ระบุไว้ข้างต้น
ดังนั้นขอย้ำว่า "ไม่มีการขโมยวัคซีนจากมือแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด่านหน้าอย่างแน่นอน"