ตัวแทน นศ. 16 สถาบัน เรียกร้องรัฐเยียวยาช่วงโควิด คืนเงินค่าเรียนจนกว่าภาวะปกติ ยกเลิกคุณสมบัติเงื่อนไขกู้เงิน กยศ.ให้สอดรับสถานการณ์ พร้อมเปิดพื้นที่ให้พูดคุยร่วมทุกภาคส่วนหาทางแก้ปัญหาประเทศ
วันนี้ (20 ก.ค.) ที่รัฐสภา นายพลพล หรินทรานนท์ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้แทนนิสิตนักศึกษาทั้ง 16 แห่ง ยื่นเรื่องต่อนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกคณะ กมธ.การศึกษา เพื่อเรียกร้องมาตรการเยียวยาช่วยเหลือนิสิตนักศึกษาในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นและกำลังทวีความรุนแรงในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนในสังคมเป็นวงกว้าง ทั้งต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และการดำเนินงานขององค์การต่างๆ มหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากทั้งในส่วนของการเรียนการทำกิจกรรมรวมไปถึงการ ดำเนินชีวิตของนิสิตนักศึกษาผู้แทนนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้ง 16 แห่ง มีข้อเรียกร้องสามประการดังนี้
1. มหาวิทยาลัยรัฐบาลและมหาวิทยาลัยเอกชน ควรคืนเงินค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาของนักศึกษาที่ได้ทำการชำระไปแล้วและในภาคการศึกษาถัดไปในอัตราร้อยละ 30-50 ของค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา จนกว่าจะมีการจัดการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัยตามปกติ เนื่องด้วยการเรียนการสอนของนักศึกษาเป็นรูปแบบออนไลน์ทั้งหมดทำให้ภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ของทางมหาวิทยาลัยไม่ได้มีเทียบเท่ากับการจัดการเรียนการสอนที่ทั้งค่าใช้จ่ายด้านอาคารสถานที่ ค่าอุปกรณ์การศึกษา ค่าดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ ของนักศึกษา ค่าบำรุงหอพักนักศึกษา และค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ ซึ่งอยู่ในค่าธรรมเนียมการศึกษาซึ่งนักศึกษาไม่ได้รับประโยชน์ทางมหาวิทยาลัยจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียกเก็บค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษาตามอัตราเท่าเดิม
2. ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการกองทุนเงินเพื่อการศึกษาพิจารณายกเลิกข้อ 5(4) ตามประกาศคณะกรรมการกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เรื่อง คุณสมบัติเฉพาะของนักเรียนนักศึกษาผู้กู้ยืมเงินกองทุน ในลักษณะที่ 1 ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ พ.ศ. 2563 และประกาศคณะกรรมการกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา เรื่อง คุณสมบัติเฉพาะของนักเรียนนักศึกษาผู้กู้ยืมเงินกองทุน ในลักษณะที่ 2 ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นความต้องการหลัก ซึ่งมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ พ.ศ. 2563 และข้อ 2 (5) ตามประกาศคณะกรรมการกองทุนเพื่อการศึกษา เรื่องการกำหนดคุณสมบัติ
ของผู้ขอรับทุน หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการขอรับทุนการศึกษาแบบต้องใช้คืน สำหรับนิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการเงินกู้เพื่อการศึกษาที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ปีการศึกษา 2560 ซึ่งข้อที่กล่าวมาข้างต้นเป็นข้อที่กำหนดให้ผู้ที่ทุนการศึกษาทั้ง กยศ. และ กรอ. ต้องทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะในระหว่างปีการศึกษา ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบันจะพบว่ามีข้อจำกัดอย่างมากในการที่จะทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะในระหว่างปีการศึกษา ทำให้นักศึกษาไม่สามารถทำประโยชน์ต่อสังคมหรือสาธารณะได้ในระหว่างปีการศึกษาได้ จึงขอเรียกร้องให้ทางคณะกรรมการฯพิจารณายกเลิกคุณสมบัติข้อนี้ หรือแก้ไขให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบัน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของนักศึกษาเป็นหลัก
3. ขอเรียกร้องให้ผู้บริหารของแต่ละมหาวิทยาลัยดำเนินการแก้ไขปัญหาที่นิสิตนักศึกษากำลังประสบด้วยความเข้าใจนักศึกษาอย่างแท้จริง โดยการเข้าถึงนิสิตนักศึกษาและเปิดพื้นที่พูดคุย รับรู้ปัญหาจริง เพื่อจะได้สามารถแก้ไขปัญหาและหาทางออกร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยและได้อย่างตรงจุดและตรงกับความต้องการของนิสิตนักศึกษา โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของนิสิตนักศึกษาเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ผู้แทนนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยทั้ง 16 แห่ง จึงขอเรียกร้องถึงคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ร่วมหาแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด และสามารถสร้างความเชื่อมั่น
ให้กับนิสิตนักศึกษา พร้อมทั้งจะทำให้นิสิตนักศึกษามีคุณภาพชีวิตอยู่ในหลักของความเป็นพลเมือง มีคุณธรรมจริยธรรมและพร้อมจะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต จึงขอความอนุเคราะห์ให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันพิจารณาปัญหาและประเด็นต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป
ด้าน นายวิโรจน์ กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า ในฐานะโฆษกคณะ กมธ.การศึกษา จะขอรับเรื่องดังกล่าวเพื่อนำเรียนประธานคณะ กมธ.การศึกษา และเข้าสู่ที่ประชุมคณะ กมธ.พิจารณาหาแนวทางการแก้ไขต่อไป