วันนี้ (14 ก.ค.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ผลกระทบที่เห็นได้อย่างชัดเจนคงหนีไม่พ้นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและในระดับจุลภาค บางธุรกิจต้องหยุดชะงัก บางธุรกิจกลับขยายตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งได้แก่ ธุรกิจการสั่งอาหารออนไลน์ ยิ่งในช่วงที่รัฐบาลกำหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างเข้มข้น เพิ่มการทำงานที่บ้าน งดการนั่งทานอาหารที่ร้าน งดกิจกรรมสาธารณะและบริการเกือบทุกประเภท ทำให้การใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีกหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ และปัญหาหนึ่งซึ่งแฝงมากับบริการดังกล่าว คือ ขยะพลาสติกมหาศาล รวมถึง ถุงพลาสติก กล่องพลาสติกบรรจุอาหาร ช้อนและส้อมพลาสติก เป็นต้น แม้บางองค์กรพยายามลดขยะโดยการให้ผู้ใช้บริการไม่รับช้อนและส้อมพลาสติกได้ แต่หากผู้ใช้บริการต้องการ ก็สามารถร้องขอได้ตามปกติ ผลที่ตามมา คือ ปริมาณขยะพลาสติกก็ลดลงไปได้ไม่มากจากการคาดการณ์ นอกจากนี้ ยังมีขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้วถูกทิ้งกันอย่างเกลื่อนกลาด ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก
“ช่วงวิกฤตเช่นนี้ การดูแลความปลอดภัยด้านสุขภาพของทุกคนคือเรื่องสำคัญ แต่การดูแลสุขภาพสิ่งแวดล้อมก็สำคัญเช่นกัน หากเราช่วยกันลดปริมาณขยะพลาสติกได้ ด้วยทางใดทางหนึ่ง จะมากหรือน้อย ก็ขอให้ทุกคนช่วยกัน และขอให้ช่วยคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อง่ายต่อการกำจัด เพื่อสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ และระบบนิเวศที่ยั่งยืน ซึ่งจะลดปัญหาขยะพลาสติกตกค้างในทะเลได้ โดยขยะพลาสติกเหล่านี้สุดท้ายก็จะสลายกลายเป็นไมโครและนาโนพลาสติกขนาดเล็ก และพิษภัยจากขยะก็จะย้อนกลับมาสู่มนุษย์ เมื่อเรารับประทานอาหารทะเลนั่นเอง” รมว.ทส.
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ตนได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งหามาตรการและวางแนวทางแก้ไข รวมถึง รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน โดยได้มอบหมายให้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. กำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประสานภาคธุรกิจ ร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. กล่าวเสริมว่า ปัญหาขยะตกค้างในทะเลยังคงเป็นปัญหาสำคัญและต้องเร่งแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะจากเครื่องมือประมงและขยะพลาสติกในทะเล ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นขยะที่เกิดจากกิจกรรมบนฝั่งเป็นหลัก การเก็บขยะในทะเลไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ตนได้ย้ำกับ นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ต้องเร่งหาทางดักขยะที่ไหลมาทางแม่น้ำสายหลักไม่ให้ลงสู่ทะเล ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการติดตั้งทุ่นดักขยะในแม่น้ำ 5 สายหลัก และแม่น้ำสายรองกว่า 30 จุด อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องเพิ่มจุดดักขยะก็ต้องเร่งทำ อีกทั้งขยะที่หลุดลงทะเลไปแล้ว ต้องเร่งเก็บให้เร็ว ก่อนที่จะสร้างผลกระทบให้กับระบบนิเวศทางทะเลและสัตว์ทะเล ซึ่งในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ก็ได้จัดสร้างเรือเก็บขยะไว้ถึง 4 ลำ เพื่อช่วยเก็บขยะในทะเล และกำหนดมาตรการชายหาดปลอดบุหรี่ใน 24 ชายหาดของ 15 จังหวัดชายทะเล ซึ่งช่วยลดปริมาณขยะและก้นบุหรี่ที่จะหลุดรอดลงเป็นขยะทะเลได้เป็นจำนวนมาก
นายจตุพร เผยต่อว่า นอกจากนี้ ตนได้กำชับไปกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ต่อยอดโครงการดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพและจัดการขยะทะเลให้เป็นระบบมากขึ้น ยิ่งในช่วงที่ธุรกิจส่งอาหารออนไลน์มีแนวโน้มสูงขึ้นแบบนี้ ขยะในทะเลอาจจะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ต้องวางแผนรับมือให้ได้ และกระตุ้นจิตสำนึกของทุกคนให้ใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ก็ได้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่ประจักษ์ แต่เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ ก็คงต้องเพิ่มมาตรการและทำงานให้หนักขึ้น และต้องร่วมมือบูรณาการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ชุมชน อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล และนักท่องเที่ยว ให้หันมาใส่ใจในความสำคัญ และผลกระทบที่จะเกิดกับระบบนิเวศทางทะเลและสัตว์ทะเลได้