โฆษก ทบ. เผย ขยายการตรวจเชิงรุกหาผู้ติดเชื้อในอาคารที่พักหน่วยทหาร กทม.และปริมณฑล ตั้งศูนย์ประสานงานดูแลผู้ป่วยโรคโควิด รพ.ทบ.ตามนโยบาย Home isolation ช่วยส่งกลับผู้ป่วยโควิดใน กทม.- ปริมณฑล ไปรักษายังภูมิลำเนาต่อเนื่อง
วันนี้ (12 ก.ค.) พล.ท.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กองทัพบก (ศบค.19 ทบ.) เปิดเผยว่า ศบค.19 ทบ.หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนรัฐบาลดำเนินการส่งกลับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย (ผู้ป่วยสีเขียว) ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ที่มีความประสงค์ไปรักษายังภูมิลำเนา ตามระบบของ สธ. จังหวัดนั้นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความคับคั่งของระบบ สธ.ส่วนกลาง กระจายไปยังส่วนภูมิภาค และเพื่อดูแลอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้มีความปลอดภัย
สำหรับการดำเนินการในครั้งนี้ ได้ใช้ศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิดกองทัพบก (กทม.) โทร. 02-270-5685-9 และ 02-615-0269 เป็นศูนย์กลางติดต่อประสานงานเชื่อมโยงข้อมูลและวางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบร่วมกับศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิดกองทัพภาค ในการยืนยันความพร้อมรับผู้ติดเชื้อเข้าสู่กระบวนการรักษาของ สธ. ในพื้นที่ และดำเนินการเคลื่อนย้ายโดยใช้กลไกศูนย์สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด-19 กองทัพบก และกองทัพภาค สนับสนุนกำลังพลพร้อมยานพาหนะที่เหมาะสมต่อจำนวนผู้ป่วย, ระยะเวลาการเดินทาง และลักษณะเส้นทาง พร้อมจัดบุคลากรสายแพทย์ร่วมขบวน เพื่อประเมินสถานการณ์ กำกับดูแลผู้ป่วยตามมาตรฐานทางการแพทย์และแนวทางการป้องกันควบคุมโรคตามหลัก สธ. ซึ่งกองทัพบกได้กำหนดพื้นที่รวมการรองรับผู้ป่วยใน กทม. และปริมณฑล ณ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เพื่อประเมินสภาพร่างกายและอาการให้สามารถเดินทางได้อย่างปลอดภัย ก่อนเคลื่อนย้ายไปยังจุดรับ-ส่งผู้ป่วยที่แต่ละกองทัพภาคจัดเตรียมไว้ ประกอบด้วย กองทัพภาคที่ 2 รพ.ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา, กองทัพภาคที่ 3 รพ.ค่ายจิรประวัติ จ.นครสวรรค์ และกองทัพภาคที่ 4 รพ.ค่ายเขตอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร
ทั้งนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้แท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้กำชับให้กำลังพลทุกนายที่เกี่ยวข้องในภารกิจครั้งนี้ ปฏิบัติตามแนวทาง ศบค. ควบคู่ไปกับมาตรการพิทักษ์พลอย่างเคร่งครัด พร้อมสวมใส่เครื่องป้องกันอย่างเหมาะสม เพื่อให้มีความปลอดภัยในภารกิจ ส่งกลับผู้ป่วยไปรักษายังภูมิลำเนาได้ตรงตามความต้องการ
สำหรับการตรวจเชิงรุกเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ ตามนโยบาพิทักษ์พล กรมแพทย์ทหารบกโดยโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าและสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร เข้าดำเนินการ ตรวจในพื้นที่บ้านพักข้าราชการส่วนกลาง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีกำลังพลและครอบครัวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อทำให้สามารถค้นพบผู้ติดเชื้อในระยะแรกเริ่ม ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการดูแลรักษาพยาบาลอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มดำเนินการไป เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 64 โดยจัดชุดตรวจเคลื่อนที่ดำเนินการตรวจเชิงรุกในพื้นที่พักอาศัยของอาคารสงเคราะห์กองทัพบกส่วนกลาง เกียกกาย เป็นลำดับแรก และจะดำเนินการตรวจตามความเร่งด่วนและสถานการณ์การแพร่ระบาด ครอบคลุมพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ตามลำดับ อาทิ บ้านพักข้าราชการ กองพันทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยานที่ 1 แจ้งวัฒนะ, กองสรรพาวุธเบาที่ 1, กองทหารพลาธิการ กองพลรักษาพระองค์ที่ 1 รักษาพระองค์ เขตหลักสี่, กรมพลาธิการทหารบก จ.นนทบุรี เป็นต้น
ทั้งนี้ กองทัพบกได้เริ่มดำเนินการตรวจเชิงรุกหาเชื้อโควิด-19 ให้กับกำลังพลทุกระดับ ที่ได้ปฏิบัติตามมาตรการ WFH (Work From Home) และกลับมาปฏิบัติงานในพื้นที่กองบัญชาการกองทัพบก ตั้งแต่ 21 มิ.ย. 64 ที่ผ่านมา และในช่วงเช้าวันนี้ (12 ก.ค. 64) พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้ไปตรวจเยี่ยม จุดบริการตรวจเชิงรุก ณ อาคารสงเคราะห์กองทัพบกส่วนกลาง เกียกกาย ซึ่งดำเนินการตรวจเป็นวันที่ 2 พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ชุดตรวจ และกำลังพลที่เข้ารับการตรวจ ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ณ โรงพยาบาลสนามกองทัพบก เกียกกาย
นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 โรงพยาบาลสังกัดกองทัพบก” ให้ 37 โรงพยาบาลสังกัดกองทัพบกทั่วประเทศ เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อ ทั้งกำลังพลและครอบครัว ตลอดจนประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มผู้ติดเชื้อสีเขียว (ไม่แสดงอาการหรืออาการเล็กน้อย) สามารถกักตัวรักษาได้ที่บ้าน (Home isolation) ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ พยาบาล และลดภาระงานในสถานพยาบาลให้สามารถรักษาผู้ป่วยวิกฤตได้อย่างเต็มที่ รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่รับผิดชอบ และพิจารณาผู้ติดเชื้อสีเขียวที่ประสงค์จะรักษาที่บ้าน มีที่พักอาศัยตามลักษณะที่สาธารณสุขกำหนด ภายใต้การดูแลรักษา ติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง จากโรงพยาบาลสังกัดกองทัพบกผ่านระบบสื่อสารต่างๆ และมีระบบรับ-ส่งผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงเข้าสู่กระบวนการรักษาในโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ กองทัพบกเชื่อมั่นว่าการดูแลผู้ติดเชื้อที่ต้องกักตัวที่บ้าน (Home isolation) จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยคลี่คลายสถานการณ์ได้ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ได้เข้าถึงระบบการดูแลรักษาของสาธารณสุข ลดการสูญเสียชีวิต อีกทั้งลดภาระงานของสาธารณสุข และบุคลากรทางการแพทย์ ที่เสียสละ ทุ่มเท ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ตลอดการแพร่ระบาดในครั้งนี้ อย่างดีที่สุด